ไม่พบผลการค้นหา
ประธาน กกต. กำชับพรรคการเมืองดำเนินการตามคำสั่ง คสช.13/2561 ย้ำ ข้อปฏิบัติ และกรอบเวลาการทำงาน ตามกฎหมายพรรคการเมือง ด้าน บก.ลายจุด เตรียมหาชื่อพรรคใหม่ หากชื่อ 'พรรคเกียน' ไม่ผ่านการอนุมัติจาก กกต.

คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการประชุมชี้แจงแนวทางดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองและผู้ขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ที่ห้องประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ แจ้งวัฒนะ

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวเปิดการประชุมว่า การประชุมในวันนี้ (28 ก.ย.) เป็นการประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการแก่พรรคการเมืองและผู้แจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 13/2561 ลงวันที่ 14 ก.ย. 2561

ส่วนการประชุมในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่ม เพื่อตอบข้อหารือในประเด็นการเตรียมการและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) การดำเนินกิจการของพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง การเงินของพรรคการเมือง และค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้พรรคการเมืองมีความรู้ความเข้าใจในกฎหมายใหม่ให้ชัดเจน และสามารถปฏิบัติได้อย่างครบถ้วนถูกต้องมากยิ่งขึ้น 


กกต.jpg


สำหรับผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย หัวหน้าพรรคการเมือง ผู้แทนของพรรคการเมือง ผู้แทนของผู้ขอแจ้งเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ผู้บริหารสำนักงาน กกต. และสื่อมวลชน โดยมีผู้ตอบรับเข้าร่วมประชุมเป็นกลุ่มการเมืองทั้งสิ้น 84 กลุ่ม และตัวแทนพรรคการเมืองจำนวน 59 พรรค รวมผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 750 คน

บรรยากาศก่อนการประชุมคึกคัก มีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติมาทำข่าวตัวแทนพรรคการเมืองที่มาเข้าร่วมประชุม อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะ, นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย, พล.ต.ต.จรัญ ชิตะปัญญา หัวหน้าพรรคเพื่อธรรม และตัวแทนกลุ่มการเมืองที่ยังไม่ได้รับการจดจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง อาทิ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่, นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย, นายสิระ พิมพ์กลาง ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเพื่อนไทย, และนายวิเชียร ชวลิต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ ฯลฯ

ทั้งนี้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเกรียน ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมประชุม เนื่องจากแต่งกายไม่สุภาพ


บกลายจุด.jpg

รอมานานกว่า 3 เดือน ยังไม่ได้จดจัดตั้งพรรค

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำจัดตั้งพรรคเกียนพร้อมทีมงาน แต่งกายชุดกู้ภัยใส่หมวกโจรสลัดมาร่วมประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยจะเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อ กกต. เนื่องจากการยื่นเสนอชื่อจดจัดตั้งพรรคไม่มีความคืบหน้ามากกว่า 3 เดือนแล้ว โดยยืนยันว่าคำว่า ‘เกียน' ที่เปลี่ยนใหม่จากคำว่า ‘เกรียน' มีความหมายว่าอ่าวหรือทะเล เปรียบเสมือนคนทุกคนมารวมกันเป็นหยดน้ำในมหาสมุทร

ส่วนใครจะมองว่าเป็นการเสียดสี ก็ยืนยันว่าเป็นคำที่มีความหมายดี แต่เพื่อความสบายใจก็ต้องรอให้ศาลปกครองตัดสิน

อย่างไรก็ตาม นายสมบัติ เปิดเผยว่า มีผู้แนะนำว่าหากทั้งสองชื่อนี้ใช้จดจัดตั้งพรรคไม่ได้ ให้ใช้ชื่อ 'พลังประชาลาก'


พรรคเพื่อนไทย

ด้าน นายสิระ พิมพ์กลาง ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อนไทย กล่าวว่า วันนี้มาในนามพรรคของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมารวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง โดยรวบรวมสมาชิกคนเสื้อแดงทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ พรรครอการอนุมัติแจ้งจดทะเบียนจาก กกต. พร้อมย้ำว่า การรวมตัวกันของพรรคเพื่อนไทยเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงและสร้างโอกาสให้คนเสื้อแดงเสนอนโยบายในรัฐสภา เพราะทุกพรรคการเมืองต่างมีสมาชิก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ ซึ่งพรรคเพื่อนไทยก็จะชูเอาทายาทและคนเสื้อแดงมาร่วมทำงานการเมือง ทั้งนี้ ได้มีการพูดคุยกับประธาน นปช. แล้ว

ส่วน นายวราวุธ ศิลปอาชา แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา มีประเด็นข้อซักถามต่อ กกต. ประมาณ 4 - 5 ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้ง ทั้งการประชุมใหญ่ การจัดตั้งสาขาเพื่อรับสมัครสมาชิก เชื่ออีกหลายพรรคการเมืองก็คงเตรียมประเด็นในลักษณะเดียวกันแต่ก็มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการหาสมาชิก อาจทับซ้อนกับการหาเสียงที่ไม่สามารถกระทำได้ ซึ่งต้องระวังคำพูดให้ดี


พรรคเพื่อไทย

'ชูศักดิ์' สงสัย นายกรัฐมนตรี มีอำนาจหลังประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด

นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเสนอข้อซักถามเกี่ยวกับอำนาจนายกรัฐมนตรีหลังประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งว่ายังมีอำนาจมาตรา 44 และสามารถใช้อำนาจในขอบเขตได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้าย ตลอดจนเงื่อนไขในการจัดตั้งสาขาพรรคเนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ระบุว่าพรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องทำสาขาพรรค ซึ่งขัดแย้งกับกฎหมายพรรคการเมืองที่ระบุให้จัดตั้งสาขาภายใน 1 ปี ซึ่งกรอบเวลาดังกล่าวจะเลยช่วงระยะเวลาการเลือกตั้ง รวมถึงประเด็นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีที่กำหนดคุณสมบัติไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคก็ได้ แต่อาจเข้าข่ายกรณีบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคครอบงำการทำงานของพรรคหรือไม่ หากได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อ 3 รายชื่อที่เสนอให้ กกต.

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับการสื่อสารกับประชาชน โดยไม่อยากให้รัฐบาลใช้เหตุผลเรื่องความมั่นคงมาปิดกั้นและเห็นว่าการหาเสียงผ่านสื่อโซเชียลมีเดียสามารถทำได้ ส่วนข้อห้ามการหาเสียงมองว่าเป็นเรื่องลำบากในการตีความ ซึ่ง กกต. ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณา รวมถึงเรียกร้องให้ใช้อำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งที่มีความยุติธรรม


อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

'อภิสิทธิ์' ขออย่าโยงการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรค เป็นการหาเสียง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การมาร่วมประชุมและรับฟังการชี้แจงจาก กกต. วันนี้ ทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในเรื่องกฎหมายการเลือกตั้ง, การจัดทำบัญชีพรรค, การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง, และเงื่อนเวลาต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ตนมีความห่วงใย คือ การรับสมัครสมาชิกพรรคการเมืองโดยส่งสำเนาทะเบียนบ้านทางอิดล็กทรอนิกส์ก็สามารถทำได้ ส่วนการตีความการหาเสียง อาจจะยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน แต่ตนอยากให้แยกกับการหยั่งเสียง เช่น กรณี นพ.วรงค์ เดชวิกรม เปิดตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่จังหวัดพิษณุโลก เป็นหนึ่งในกระบวนการหยั่งเสียงเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกหัวหน้าพรรค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่อยากให้มองว่าเป็นการหาเสียง

แต่อย่างไรก็ตามตนได้แนะนำ นพ.วรงค์ ไปแล้วว่าไม่ควรทำอะไรที่กระทบกับพรรค ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ไม่กังวลว่าจะขัดต่อคำสั่ง คสช. เพราะพรรคทำกิจกรรมการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีขั้นตอนที่ถูกต้องรัดกุม ส่วนตัวเองยังไม่เปิดตัวทีมงานผู้สมัครตำแหน่งหัวหน้าพรรค เนื่องจากยังต้องทำภารกิจสุดท้ายคือ เป็นตัวแทนพรรคเสรีประชาธิปไตยไปร่วมประชุมที่ประเทศแอฟริกาใต้ในสัปดาห์หน้าเสียก่อน ส่วนภารกิจอื่นๆตอนนี้ตนได้มอบหมายให้กับรองหัวหน้าพรรคดูแลแทนแล้ว เพราะต้องการให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี การให้ข้อเสนอในกลุ่มไลน์พรรคประชาธิปัตย์ ว่า หากเลือก นพ.วรงค์จะได้ นายถาวร เสเนียม มาเป็นทีมงานด้วย แต่หากเลือกนายอภิสิทธิ์ จะได้นายศิริโชค และนายเทพไท มาเป็นทีมงานด้วย นายอภิสิทธิ์ เปิดเผยว่าการพูดคุยในกลุ่มไลน์ของพรรควันนี้ไม่มีใครเห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรจะแข่งขันอย่างสร้างสรรค์เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องมาทะเลาะและทำลายกันเอง พรรคประชาธิปัตย์กำลังสร้างประชาธิปไตยให้พรรคเป็นที่พึ่งและที่หวังของประชาชน จึงไม่ทราบว่าใครจะทำอะไรยังไง แต่สมาชิกทุกคนจะระมัดระวังในการกระทำอยู่แล้ว ตนไม่มีความจำเป็นจะไปตอบโต้ใคน เพราะทรัพยากรในพรรคทุกคนมีคุณค่า ต้องให้เกียรติในความคิดเห็นที่แตกต่าง นี่คือแนวทางที่ตนยึดถือมาตลอด 

กรณีอดีต ส.ส. ของพรรคหลายคนย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าเป็นเรื่องปกติของการเลือกตั้งแต่ละครั้ง และเป็นสิทธิ์ของทุกคนที่จะย้ายพรรคเพราะมีอุดมการณ์ที่ตรงกัน แต่ถ้าย้ายพรรคเพราะกาาเสนอผลประโยชน์ ตนกังวลว่าจะนำมาสู่การเมืองที่ไม่สุจริต ทั้งนี้อยากให้ประชาชนจับตามองให้ดี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เอง ไม่มีคนที่เป็นใหญ่ในพรรค หากมีใครลาออกไปก็จะต้องหาคนมาลงสมัครในเขตนั้นๆ แทน


ประธาน กกต. กำชับพรรคการเมืองดำเนินการตามคำสั่งคสช.13/2561


คณะกรรมการการเลือกตั้ง

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แสดงความยินดีที่พรรคการเมืองให้ความสำคัญ รับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการทางการเมืองตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 และแม้จะเกิดขึ้นเพิ่งมารับตำแหน่งได้ 6 สัปดาห์ แต่ก็พร้อมชี้แจงประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ให้พรรคการเมืองดำเนินการสอดคล้องกฎหมายและเป็นไปตามกรอบเวลาที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กกต. ได้ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นว่า ขณะนี้มีกลุ่มขอแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง 119 กลุ่ม ซึ่งยังไม่มีสถานะเป็นพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องมีทั้งหมด 74 พรรค พร้อมอธิบายหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. แบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ใช้บัตรใบเดียว ทั้งการเลือกผู้สมัครแบ่งเขต การเลือกบัญชีรายชื่อ และการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี

พร้อมกันนี้ยังชี้แจงเกี่ยวกับสิ่งที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการ โดยเฉพาะข้อกฎหมายที่พรรคการเมืองต้องดำเนินการนับแต่ 14 กันยายน ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ที่พรรคการเมืองต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท และจัดให้มีสมาชิกที่ชำระค่าบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน แต่หากทำไม่ทันสามารถขอให้ กกต. ขยายได้อีก 180 วัน 

แต่หากยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ก็สิ้นสภาพพรรคการเมือง ส่วนพรรคการเมืองใดมีข้อบังคับคำประกาศอุดมการณ์ยังไม่ถูกต้องตามกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ก็ขอให้ผู้บริหารพรรคตรวจสอบ และต้องตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคให้ครบถ้วนภายใน 90 วัน ก่อนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลใช้บังคับ คือภายในวันที่ 10 ธันวาคม แต่สามารถขอ กกต. ขยายได้อีก 90 วัน หากไม่ทันก็ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้

ส่วนความพร้อมของ กกต. นายอิทธิพร บอกว่า กกต. ได้การแบ่งเขตเลือกตั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ให้แล้วเสร็จก่อนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ ซึ่ง กกต. ออกระเบียบว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งและประกาศราชกิจจนุเบกษาแล้ววันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา รวมถึงผลงานที่ กกต. ดำเนินการมี 4 ปี ก็มีการกำหนดยุทธศาสตร์ การพัฒนาบุคลากร กกต. พนักงานสืบสวนไต่สวน เพื่อรองรับการเลือกตั้งในอนาคต