เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น.วันนี้ (19 มี.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กซึ่งใช้ชื่อว่า Anunya Rittichai ได้เผยแพร่ภาพและข้อความระบุว่า เกิดเหตุบันไดเลื่อนขาขึ้นของสถานีรถไฟฟ้า BTS พญาไท ทรุดตัวลงไปด้านล่าง จนกลายเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ พร้อมระบุว่า เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา
*คือกำลังจะก้าวขึ้นไป มีป้าคนหนึ่ง (ไม่รู้จัก) ลากกระเป๋าลาก ขึ้นไปก่อนอยู่ข้างหน้า เสี้ยววินาทีที่ป้าขึ้นไปแล้ว แล้วบันไดเลื่อนขึ้นไป 1 ขั้น เรากำลังจะก้าวตาม ที่ๆ ป้าเคยยืน ตกลงไปข้างล่างต่อหน้าเลยจ้า แผ่นเหล็กเด้งออกมาตรงปลายเท้าเลย ช็อคมาก หัวใจจะวาย เป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกว่าความตายใกล้มากกว่าที่คิด" ข้อความในเฟซบุ๊กระบุเพิ่มเติม
ผู้ใช้เฟซบุ๊กนับหมื่นคนกดแสดงความรู้สึกต่อภาพและข้อความในโพสต์ดังกล่าวของ Anunya Rittichai ซึ่งเปิดให้เข้าถึงแบบสาธารณะ และเมื่อเวลาประมาณ 19.44 น. มีผู้แชร์ภาพดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อในเครือข่ายออนไลน์เกือบ 10,000 คน โดยส่วนใหญ่เห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความสุ่มเสี่ยงและอันตราย เพราะผู้ใช้บันไดเลื่อนอาจตกลงไปด้านล่างขณะที่บันไดเลื่อนกำลังทำงาน ซึ่งจะทำให้บาดเจ็บร้ายแรงได้
วอยซ์ออนไลน์ได้ติดต่อไปยังศูนย์ฮอตไลน์ของ BTS และเจ้าหน้าที่ยอมรับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ขณะนี้ทาง BTS กำลังเร่งดำเนินการซ่อมแซมและตรวจสอบสาเหตุ รวมถึงจะแถลงชี้แจงต่อสาธารณะทันทีที่ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่ยืนยันว่าไม่มีผู้บาดเจ็บจากกรณีดังกล่าว
เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ หลังผู้ใช้วีลแชร์รายหนึ่งทุบกระจกลิฟต์ BTS สถานีอโศกจนแตกร้าว เนื่องจากประตูลิฟต์ล็อกจนไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งกลุ่มผู้รณรงค์เกี่ยวกับสิทธิคนพิการและการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ได้โพสต์ภาพที่เกิดเหตุพร้อมข้อความในเฟซบุ๊ก Accessibility Is Freedom เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ BTS ดำเนินการสร้างลิฟต์โดยสารที่สามารถใช้งานได้จริง หลังจากมีคำสั่งศาลเมื่อปี 2558 ให้ กทม.และ BTS ติดตั้งลิฟต์เพื่อให้ผู้โดยสารใช้บริการได้ครบทุกสถานี
จากกรณีดังกล่าวทำให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการและปลัดกระทรวงคมนาคม ประชุมหารือเพิ่มเติมร่วมกับภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ วันนี้ โดยมีผู้แทนสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แฃะบริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ร่วมประชุมด้วย
นายอาคมได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรฐานที่ถูกต้องในการดูแลคนทุกกลุ่มในทุกระบบขนส่งสาธารณะ และให้ทุกโครงการของกระทรวงฯ ยึดหลักการออกแบบเพื่อทุกคน (UNIVERSAL DESIGN) ในการก่อสร้าง รวมถึงรับทราบรายงานผลสำรวจการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกผู้พิการในระบบรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะของภาคีเครือข่ายฯ เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางปรับปรุงและพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในทุกระบบขนส่งสาธารณะต่อไป
อ่านเพิ่มเติม: