หลังทางเยอรมนีไม่ขายเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารุ่น MTU 396 ให้กับบริษัท SCOC ที่ต่อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T ให้ไทย ทางจีนจึงเสนอเครื่องยนต์รุ่น CHD 620 ที่จีนผลิตให้แทน
ล่าสุด ‘บิ๊กจ๊อด’พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารโครงการเรือดำน้ำ ได้เชิญผู้แทน CSOC และผู้ช่วยทูตทหารเรือจีนประจำประเทศไทย เตรียมประชุมร่วมกันช่วงปลายเดือน พ.ย. ถึง ต้นเดือน ธ.ค. 2565 โดยเลื่อนจากกลาง พ.ย. 2565 ที่ติดสถานการณ์โควิด-19 ที่จีน ซึ่งในขณะนี้การทดสอบสรรถนะเครื่องยนต์ CHD620 เสร็จระยะที่ 1 แล้ว
ทั้งนี้ ทร. ได้ตั้ง ‘คณะทำงาน’ ที่พิจารณาด้านเทคนิคขึ้นมา โดยมีผู้แทนจากกรมอู่ทหาร , เรือกองเรือดำน้ำ , สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ และเจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อพิจารณา โดยมี 4 เงื่อนไขสำคัญ ที่ฝ่ายจีนต้องนำเสนอ ทร. ในการประชุมครั้งหน้า
ประเด็นที่ 1 คุณลักษณะสำคัญของเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเรือดำน้ำ
ประเด็นที่ 2 ความปลอดภัยของเครื่องยนต์ที่นำเสนอให้กองทัพเรือ
ประเด็นที่ 3 ขีดความสามารถของเครื่องยนต์ที่จีนเสนอติดตั้งต้องไม่ด้อยกว่าเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมัน ที่เสนอไว้แต่แรก
ประเด็นที่ 4 การสนับสนุนด้านการรับประกัน การซ่อมบำรุง และอะไหล่ของเครื่องยนต์ดังกล่าว ต้องเป็นไปตามข้อกำหนด พร้อมย้ำว่า ทร.จีน ต้องเป็น ‘ผู้รับประกัน’ เครื่องยนต์จาก บ.CSOC ด้วย
นอกจากนี้ ทร. ยังขอให้ส่งผู้แทนด้านเทคนิคของ ทร. ไปดูการทดสอบเครื่องยนต์ CHD 620 ที่จีนผลิต ที่จะเอามาติดตั้งให้เรือดำน้ำไทย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าเครื่องยนต์มีขีดความสามารถพอที่จะทดแทน MTU 396 ได้หรือไม่ ทั้งนี้มี 2 ประเทศที่อยู่ระหว่างพิจารณาใช้เครื่องยนต์จีนรุ่น CHD620 คือ ทร.ไทย และ ทร.ปากีสถาน ซึ่งทาง พล.ร.อ.เชิงชาย ผบ.ทร. ระบุว่าจะมีการประสานกับ ทร. ปากีสถาน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวทำให้คนใน ทร. พูดกันว่า ถ้า ทร.ไทย รับข้อเสนอและนำมาใช้ ก็จะเป็น ‘หนูทดลอง’ เป็น 2 ประเทศแรกให้จีน เพราะเป็น ‘เครื่องต้นแบบ’ ของจีนที่ยังไม่เคยมีการใช้งานในเรือดำน้ำจีนมาก่อน
อีกทั้งมีผลต่อกำลังพล ทร. ที่คุ้นชินเครื่องยนต์จาก ‘เยอรมัน’ มากกว่า เพราะมีประจำการใน ‘เรือผิวน้ำ’ ของ ทร. อยู่แล้ว ทำให้ ทร. ต้องแบกรับ ‘ความเสี่ยง’ ต่างๆ มากขึ้น
ทั้งนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ระยะเวลาที่จะเข้าประจำการ ทร.ไทย เลื่อนออกไปจากเดิมปี 2566 ไปเป็นปี 2567 และต้อง ‘ทอดเวลา’ ออกไปอีก และอาจมีการ ‘ขยายสัญญา’ ออกไป หากไม่สามารถเคลียร์ปัญหา ‘เครื่องยนต์’ ได้โดยเร็ว เพราะขั้นตอนต่อเรือในขณะนี้ก็ ‘หยุดชะงักชั่วคราว’ เพราะอยู่ในขั้นตอนใส่เครื่องยนต์
อีกทั้งงบประมาณที่จ่ายไปแล้วประมาณ 7,700 ล้านบาท จากทั้งหมด 13,500 ล้านบาท ในโครงการเรือดำน้ำลำแรก
จ่ายไปแล้ว 5 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี 2560-2564 ส่วนงบปี 2565 ยังติดขัดในเรื่องเครื่องยนต์ ทำให้โครงการชะงักไปด้วย โดยเหลืออีก 2 ปีงบประมาณ ที่เป็นงบผูกพันตั้งแต่ปี 2560-2566 รวม 7 ปีงบประมาณ 17 งวด
อย่างไรก็ตาม ทร. ได้ชะลอการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 มูลค่า 22,500 ล้านบาท ออกไป โดย ‘บิ๊กเฒ่า’พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย อดีตผบ.ทร. ได้ ‘ถอย’ ไม่เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ลำที่ 2-3 ต่อสภาฯ ในปีงบประมาณ 2566 โดยจะนำงบก้อนดังกล่าวไปใช้ในส่วนอื่นแทน โดยเฉพาะการซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ รวมทั้งการหา ‘ยุทโธปกรณ์’ อื่นๆ มาทดแทน เพื่อคงระดับ ‘กำลังรบ’ ให้ได้
“อาจจะเป็นเรือฟริเกตหรือเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์มาทดแทน ในช่วงที่ยังจัดหาเรือดำน้ำไม่ได้ เพราะฉะนั้นในปีหน้าจะมีนโยบายการศึกษาการจัดสร้างเรือฟริเกตในประเทศ ซึ่งโครงการจัดหาเรือฟริเกตมีการอนุมัติไว้แล้ว แต่รัฐบาลอยากให้มีการดำเนินการในประเทศ เพราะฉะนั้นในปี 2566 จะมีแนวทางในการศึกษาแนวทางจัดหาและดูความเป็นไปได้ ซึ่งหากจะต่อเรือในประเทศจะต้องมีบริษัทต่อเรือจากต่างประเทศเข้ามาร่วมกับบริษัทในประเทศ และเสนอแนวทางให้กองทัพเรือพิจารณาว่ามีแนวทางอย่างไร และหนทางเลือกไหนดีที่สุด
เพราะหากการจัดซื้อเรือดำน้ำต้องขยายเวลาออกไป หรือยังมีความไม่แน่นอน อาจจะต้องมีการเสริมสร้างเรือรบขนาดใหญ่เติมเข้ามาในกองทัพ โดยจะต้องเป็นเรือที่มีขีดความสามารถในการปราบเรือดำน้ำ” พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวหลังรับตำแหน่ง ผบ.ทร. เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565
ล่าสุดกำลังพล ร.ล.ช้าง รวม 196 นายเดินทางไปยังเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เพื่อเข้ารับการฝึกกำลังพลประจำเรือยกพลขึ้นบก LPD 071 E ฉางไปซาน รวม 4 เดือน ถึง มี.ค. 2566 สำหรับ ร.ล.ช้าง ทร.ไทย ได้จัดหาปี 2562 มูลค่า 6,100 ล้านบาท โดย ร.ล.ช้าง จะเข้าประจำการ ทร. ช่วงเดือน เม.ย. 2566 โดยมี น.อ.ธีรสาร คงมั่น อดีตผู้การ ร.ล.อ่างทอง เป็นผู้การ ร.ล.ช้าง คนแรก โดย ร.ล.อ่างทอง กับ ร.ล.ช้าง เป็นเรือยกพลขึ้นบก เหมือนกัน
เมื่อครั้งจัดหา ร.ล.ช้าง ในยุค ‘บิ๊กลือ’ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร. ได้ให้เหตุผลว่าเพื่อใช้เป็น ‘เรือพี่เลี้ยง’ ให้กับ ‘เรือดำน้ำ’ ลำแรก เพื่อสนับสนุนกำลังพลเรือดำน้ำในการ ‘ส่งกำลังบำรุง’ แต่เมื่อยังไม่มีเรือดำน้ำ ทำให้ ทร. ต้องปรับภารกิจไปเสริมงาน ร.ล.อ่างทอง แทน เช่น ปฎิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก ลาดตระเวนตรวจการ รับมือภัยพิบัติขนาดใหญ่ ที่เรือขนาดเล็กไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ โดยเรือสามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ได้ 3 ลำ
ทั้งหมดนี้เป็น ‘วิบากกรรม’ เรือดำน้ำไทย ที่ ทร. ต้องแบกรับ ในกรณีที่ยังไร้ทางออกปม ‘เครื่องยนต์’ หากสุดท้ายถ้าถึงขั้นต้อง ‘ยกเลิกสัญญา’ ใครจะรับผิดชอบ
รวมทั้งจีนจะ ‘ชดเชย’ ให้ไทยอย่างไร ไม่ว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร
ย่อมมีทั้ง ‘แรงต้าน-ความเสี่ยง’ รออยู่ภายภาคหน้า ทร. ไม่สามารถหลีกหนีได้เลย