เหตุการณ์เรือหลวง (ร.ล.) สุโขทัยอับปางลงเมื่อมีจุดเริ่มในช่วงเย็นเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2565 โดยเรือหลวงสุโขทัย (442) นำทหารเรือและเจ้าหน้าที่รวม 106 นาย เดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี มุ่งหน้าไปร่วมงานเทิดพระเกียรติ พล.ร.อ.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” เนื่องในวันครบรอบ 142 ปี วันคล้ายวันประสูติ องค์พระบิดาของทหารเรือไทย ที่จัดขึ้น ณ ศาลเสด็จเตี่ย ต.หาดทรายรี อ.เมืองชุมพร
และเกิดเหตุการณ์เรือล่มในเวลา 23.30 น. จมลงก้นทะเลทั้งลำ ที่ระดับความลึกราว 40 เมตร เขตพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากฝั่งไปประมาณ 19 ไมล์ทะเล ทำให้กำลังพลบนเรือต้องหนีตายและสละเรือใหญ่
อีกทั้งยังมีรายงานว่า ชูชีพบน ร.ล.สุโขทัยมีไม่เพียงพอ และมีกำลังพลที่ไม่ใช่ลูกเรือของ ร.ล.สุโขทัย อยู่บนเรือที่เกิดเหตุ
กระทั่งเวลาการออกปฏิบัติการค้นหากำลังพลที่สูญหายก็ยังไม่สามารถค้นหาผู้สูญหายได้ครบทั้งหมดลากยาวข้ามมาถึงศักราชใหม่ปี 2566 (โดยล่าสุดกองทัพได้เผยปฏิบัติค้นหาผู้สูญหายที่เหลืออีก5 ราย สรุปยอดการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ 3 ม.ค. 2566 เวลา 11.00 น. ยอดกำลังพล 105 นาย รอดชีวิตจำนวน 76 นาย เสียชีวิตรวม 24 นาย ในจำนวนนี้สามารถระบุชื่อได้แล้ว 23 นาย และมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นกำลังพลกองทัพเรือและอยู่ในกระบวนการของการพิสูจน์เอกลักษณ์เพื่อยืนยันตัวบุคคล 1 นาย)
ล่าสุด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผบ.ทร. ย้ำว่า กองทัพเรือยังคงเดินหน้าภารกิจค้นหากำลังพล 5 รายที่ยังสูญหาย ไม่ได้ลดกำลังพลแต่อย่างใด
สำหรับ เรือหลวง (ร.ล.)สุโขทัย สังกัด หมวดเรือที่ 1 กองเรือฟริเกตที่ 1 กองเรือยุทธการ หมายเลข 442 ประจำการเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2530 ประวัติเป็นเรือคอร์เวตชุดเรือหลวงรัตนโกสินทร์ (2ลำ) สร้างโดย TACOMA BOATBUILDING COMPANY ที่เมือง TACOM ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเรือคอร์เวต เรือหลวงสุโขทัยชื่อเดิม RTN 252 FT PSMM MK-16 #446 ได้รับการติดตั้งระบบอาวุธยุทโธปกรณ์และระบบอำนวยการรบที่ทันสมัย มีขีดความสามารถและประสิทธิภาพสูง พร้อมที่จะปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ ในเวลาเดียวกัน คือการป้องกันภัยทางอากาศ สงครามผิวน้ำ และสงครามปราบเรือดำน้ำ
คุณลักษณะ ความกว้างxยาวxสูง : 9.6x76.7x26.82 น้ำลึกหัว 3.81 เมตร ท้าย 3.07 เมตร โดมโซนาร์ 4.5 เมตร
เครื่องจักรใหญ่ : ดีเซล จำนวน 2 เครื่อง ชนิด 4 Stroke , Single Action แบบ 20V 1163 TB 83 กำลัง 7,268 แรงม้า มีความเร็ว มัธยัสถ์ 16 นอต สูงสุด 24 นอต
ทั้งนี้มีระยะปฏิบัติการสูงสุด 3,568 ไมล์ทะเล ภารกิจหลัก คือการปราบเรือดำน้ำ การลาดตระเวนตรวจการณ์ การคุ้มกันกระบวนเรือ การสนับสนุนการยิงฝั่ง ภารกิจรองสนับสนุนภารกิจกองทัพเรือ ปัจจุบันมี นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการ ร.ล.สุโขทัย
เมื่อตรวจดู เอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในส่วนของ 'กองทัพเรือ' ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 40,066,963,000 บาท
กองทัพเรือ มีพันธกิจ เตรียมกองทัพเรือและป้องกันราชอาณาจักร การรักษาสิทธิ์ อำนาจอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การพิทักษษ์รักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ การสนับสนุนการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชน
สำหรับโครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ มีการตั้งงบฯไว้ 12,786,970,200 บาท
โดยค่าใช้จ่ายในการดำรงขีดความสามารถกำลังกองทัพ 3,170,859,100 บาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และศึกษาต่างประเทศ 40,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการฝึก ศึกษาทางการทหาร 951,500,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการส่งกำลังและซ่อมบำรุงและผลิตเพื่อแจกจ่าย 2,179,359,100 บาท
ส่วนค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างกำลังกองทัพ มีจำนวน 7,610,561,100บาท เป็นโครงการเสริมสร้างยุทโธปกรณ์ 3,510,540,1000 บาท คือ โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ 1,510,540,100 บาท และโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงยุทโธปกรณ์ 2,000,000,000 บาท ซึ่งไม่ได้มีรายละเอียดว่านำไปซ่อมแซมและปรับปรุงในรายการใด
นอกจากนี้ยังมีงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับการดำรงสภาพในการป้องกันประเทศ 4,446,498,300 บาท ซึ่งเป็นงบเกี่ยวกับงบดำเนินงาน ค่าใช้สอยและวัสดุ ค่าสาธารณูปโภค
ขณะที่โครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ผูกพันข้ามปีงบประมาณ มีการตั้งงบฯ ไว้ 2,340,063,200 บาท มีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ 1,942,856,000 บาท และเงินราชการลับ 62,694,000 ซึ่งเงินราชการลับนี้ไม่ได้มีการแจกแจงรายละเอียดการใช้งบฯเช่นกัน
งบประมาณของกองทัพเรือจึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าการบำรุงและดูแลรักษาเรือหลวงที่ใช้ในกิจการของกองทัพเรือนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่
รวมทั้งยังถูกตั้งข้อสังเกตอีกว่าเมื่อได้งบประมาณจำนวนมหาศาล ทำไมถึงยังมีข่าวว่าอุปกรณ์ชูชีพเพื่อช่วยเหลือกำลังพลบนเรือหลวงที่อับปางยังไม่เพียงพอต่อชีวิตกำลังพล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง