วันที่ 31 พ.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเรื่องด่วนการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การอภิปรายร่างงบประมาณฯ ปีนี้มีความสำคัญ เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อ เพราะเป็นปีแห่งความหวังในการฟื้นฟูประเทศ ให้ประชาชนได้มองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ถือเป็นรอบที่ประชาชนมีความหวังที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งในแง่รายได้ และแง่การเมือง
“ถ้าเราจัดงบปีนี้ดี ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะทะยานไปอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ถ้าเราจัดงบไม่ดี ทศวรรษที่สูญหายที่ผ่านมา ทศวรรษหน้าก็จะเป็นเหมือนดังที่ผ่านมา นี่คือความพิเศษของการอภิปรายงบประมาณแห่งความหวัง ปีแห่งการฟื้นฟูประเทศในปีนี้”
พิธา กล่าวว่า เนื่องด้วยมีเวลาเพียง 12 วัน ที่ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์งบประมาณถึง 9,000 หน้า ทำให้พรรคก้าวไกลจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยเหลือ เพื่อประมวลผลและจัดระบบข้อมูลให้ง่ายต่อการสืบค้นและวิเคราะห์ ทำให้ความสามารถในการวิเคราะห์งบ แตกต่างจาก 3 ปีที่ผ่านมาของตน เพราะจำเป็นต้องหารือกันถึงเรื่องโครงสร้างงบประมาณของประเทศ
จากนั้น พิธา เสนอว่า เมื่อพิจารณาแล้ว งบประมาณปีนี้เป็น ‘งบช้างป่วย’ ที่ปรับตัวไม่ได้ รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้หลุดกรอบ รายได้ปีนี้ประมาณการอยู่ที่ 2.49 ล้านล้านบาท ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย จำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก 6.95 แสนล้านบาท รวมกันเป็นรายจ่ายที่ 3.185 ล้านล้านบาท ปัจจัยเสี่ยงอยู่ที่การจัดเก็บภาษีที่หลุดเป้าเสมอ และความเสี่ยงด้านการกู้คือ เมื่อภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ดอกเบี้ยก็จะสูงยิ่งขึ้นด้วย จึงแทบไม่หลงเหลือรายได้สำหรับอนาคต เพราะเป็นการกู้เงินในอนาคตมาเป็นรายจ่าย
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มส่อเค้ามาตั้งแต่ปี 2563 จากนั้นสถานการณ์โควิด-19 เริ่มปะทุขึ้นในปี 2564 หนักข้อขึ้นในปี 2565 ด้วยระลอกเดลตา จนปี 2566 ที่มีแนวโน้มว่า การท่องเที่ยว การส่งออก อาจจะกลับมาดีได้ แต่การจัดโครงสร้างงบประมาณยังคงเป็นแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง 75% หรือ 3 ใน 4 ล้วนเป็นงบประจำ เช่นนั้นแล้ว ไม่ว่าประเทศจะเกิดวิกฤตใดๆ ก็ตาม งบประมาณก็ไม่ได้ตอบสนองแต่อย่างใด
ในด้านโครงสร้างของรายจ่ายนั้น ทุกๆ 1 บาท ที่เก็บภาษีและกู้มา 40% ของทั้งหมด จะกลายเป็นเงิน สวัสดิการ และบำนาญข้าราชการ แต่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ โดยเฉพาะเงินบำนาญข้าราชการเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีก 10% ต้องใช้จ่ายหนี้ภาครัฐ ซึ่งต้องระวังดอกเบี้ยสูงเพราะเงินเฟ้อทั่วโลก ขณะที่อีก 10% คือเงินอุดหนุนท้องถิ่น และอีก 7% คือสวัสดิการประชาชน ซึ่งยังน้อยไป แต่ยังไม่สามารถรารายได้มาหนุนเสริม ส่วนอื่นๆ คืองบผูกพัน
จากนั้น พิธา กล่าวถึง งบประมาณในภาคการเกษตร 7.9 หมื่นล้าน ส่วนใหญ่เป็นการชำระหนี้เก่าให้กับนโยบายประกันและจำนำ ซึ่งย้อนหลังไปถึงปี 2551 ขณะที่อีก 2.7 หมื่นล้าน เป็นการชำระหนี้ ธกส. ย้อนหลังไปถึงปี 2551-2552 รวมกันเป็น 8.4 พันล้าน เยอะกว่าแผนพัฒนาภาคการเกษตรเสียอีก ถือว่าเป็นงบไม่ตรงปกอย่างแรง
พิธา ย้ำว่า ประเทศจะมีความหวังได้ ต้องบริหารเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม คือต้องนำ EEC มาเทียบกับ SME หรือธุรกิจขนาดกลาง-ย่อม จึงจะเห็นว่า EEC ได้รับงบสูงถึง 11,000 ล้านบาท และผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่คือนักลงทุนต่างประเทศ นายทุนใหญ่ และ 26 นิคมอุตสาหกรรมใหญ่ แต่ SME ได้รับงบเพียง 2,700 ล้านบาท มีผู้รับ 3 ล้านราย เท่ากับจะได้รับงบเพียงรายละ 900 บาท แสดงให้เห็นว่าการใช้งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจมีความไม่ยุติธรรม และละเลยคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเห็นได้ชัด
พิธา เสนอว่า การกระจายอำนาจที่กระจุกอยู่คือทางออกที่มีความหวัง ปัจจุบันมีการแบ่งรายได้ อปท. เป็น 70 ต่อ 30 พรรคก้าวไกลเสนอให้แบ่งเป็น 50 ต่อ50 จะทำให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้สุทธิ 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น ให้สามารถแก้ไขปัญหาและส่งเสริมท้องถิ่นได้อย่างเป็นระบบ เป็นการระเบิดขีดความสามารถทางเศรษฐกิจถึง 7,850 หน่วยทันที ไม่จำเป็นต้องแอบอิงกับทุนใหญ่ไม่กี่ที่อีกต่อไป พร้อมกันนั้นยังเสนอการพัฒนาจากล่างขึ้นบนแบบสิงคโปร์ เพื่อกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี
“เอสเอ็มอี 3 ล้านรายทั่วประเทศเป็นความหวังของประเทศไทย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้องเอาข้างนอกเข้ามาสู่ข้างใน ไม่ใช่เอาสิ่งที่เราต้องการอนุรักษ์ไปเสนอเขา แล้วทำให้ทุกสิ่งอย่างในธุรกิจของประเทศไทย สามารถเติบโตด้วยแบรนดิง Thailand ด้วย soft power ที่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งประเทศไทยกำลังจะสร้างให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ผมไม่สามารถรับหลักการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 ในวาระแรกนี้ได้” พิธา ทิ้งท้าย