นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ว่า ตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินกรณีภัยแล้งใน 5 จังหวัด 13 อำเภอ 39 ตำบล 287 หมู่บ้าน ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี นั้น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนที่ประสบภัยแล้ง และมีความกังวลว่าสถานการณ์แล้งในบางพื้นที่อาจจะยาวนานว่าที่คาดการณ์
โดยสั่งการให้ สทนช. เร่งประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อติดตามให้ความช่วยเหลือให้สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงเฝ้าระวังสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงไม่ให้ยกระดับเป็นพื้นที่ประกาศภัยแล้ง ซึ่งจากผลการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ล่าสุด พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคใน 7 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่ ภาคเหนือ 2 จังหวัด (เชียงใหม่ นครสวรรค์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด (ชัยภูมิ นครราชสีมา เลย) และภาคกลาง 2 จังหวัด (กาญจนบุรี ราชบุรี) ซึ่งจากการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงข้างต้น สทนช.ได้ประสานงาน กำกับ ติดตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบ ทั้งการจัดรถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ กระจายน้ำเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงเตรียมแผนสำรองกรณีต้องทำการดึงน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงทั้งผิวดินและใต้ดินรัศมี 50 กิโลเมตร ตามที่ สทนช.ส่งข้อมูลให้ล่วงหน้า
แต่จากคาดการณ์สภาพอากาศในปัจจุบัน ช่วงวันที่ 26-28 เม.ย. 62 ประเทศไทยยังจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัดในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณประเทศไทยตอนบน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกรรโชกแรง กับมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทั้งนี้ ภาพรวมของสถานการณ์น้ำของทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 45,476 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 56% โดยพื้นที่ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ รวม 4,609 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 35% และภาคกลาง 674 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำใช้การ อาทิ เขื่อนอุบลรัตน์ ห้วยหลวง ทับเสลา และกระเสียว เป็นต้น ซึ่ง สทนช.ได้กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำต่างๆ ให้เร่งเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีปริมาณฝนจากพายุฤดูร้อนที่ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเพิ่มเติม รวมถึงระบายน้ำเท่าที่จำเป็นและเคร่งครัดตามแผน เพื่อลดความเสี่ยงในบางพื้นที่ที่ปริมาณฝนน้อย และอาจจะเกิดฝนทิ้งช่วงในเดือนมิ.ย.- ก.ค.ในหลายพื้นที่ได้ นอกจากนี้ ยังได้ประสานขอความร่วมมือจากเกษตรกรให้งดการปลูกพืชฤดูแล้งและพืชต่อเนื่อง เน้นสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและการปรับตัวให้หันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน
ขณะที่สถานการณ์ฤดูฝนปี 2562 กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. ได้คาดการณ์ว่า จะเริ่มต้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. คาดว่าประมาณวันที่ 23-25 พ.ค. 2562 โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะมีฝนต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี สระแก้ว พัทยา จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติมากกว่าร้อยละ 10
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า นอกจากการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคใน 7 จังหวัดแล้ว ยังมีพื้นที่เสี่ยงลักษณะเป็นเกาะ อาทิ เกาะภูเก็ต เกาะสีชัง ซึ่งเสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคด้วย ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้การประปาส่วนภูมิภาคร่วมกับทางจังหวัด จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนสำรองให้เพียงพอตลอดจนถึงสิ้นเดือนพ.ค.แล้ว และเพื่อความไม่ประมาท รองนายกฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้สั่งการให้ขยายระยะเวลาการวางแผนจัดหาแหล่งน้ำรองรับให้ครอบคลุมไปจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่า จะมีน้ำใช้เพียงพอจนกว่าฤดูฝนจะมาถึง และกำชับให้ สทนช. บูรณาการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า จะเรียกประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำวันที่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อมอบนโยบายและซักซ้อมแผนปฏิบัติการของหน่วยงานรับผิดชอบเป็นรายพื้นที่ทั้งพื้นที่ที่ประกาศภัยแล้ง รวมถึงพื้นที่เสี่ยงอีกครั้งให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกัน ยังจะมีการพิจารณาแผนงานโครงการเร่งด่วนเพื่อพัฒนาปรับปรุงแหล่งน้ำต่างๆ ให้แล้วเสร็จก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะบ่อน้ำ และบ่อบาดาล ที่ สทนช.ได้ดำเนินการรวบรวม วิเคราะห์ โครงการที่มีความพร้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีประมาณ 144 โครงการ วงเงิน 1,200 – 1,300 ล้านบาท ให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโดยเร็วต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว