นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์ลุ่มน้ำเพชรบุรี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี จากนั้นเลขาธิการ สทนช. พร้อมคณะได้ขึ้น ฮ.บินสำรวจสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี เหนือเขื่อนแก่งกระจาน และเส้นทางการระบายน้ำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อน จนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี ก่อนลงพื้นที่ติดตามผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำที่สำคัญด้วย
นายสมเกียรติ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีข้อสั่งการให้ผมซึ่งเป็นประธานคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ติดตาม กำกับ และบูรณาการบริหารจัดการน้ำหลากในพื้นที่เสี่ยงให้ชัดเจน โดยสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี และประเมินแผนปฏิบัติการรับมือสภาพอากาศและสถานการณ์ฝนช่วงวันที่ 4 – 8 ส.ค.2561 ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นบริเวณชายขอบประเทศภาคตะวันตก และ ภาคอีสาน เนื่องจากเป็นแนวปะทะของฝน โดยจะตกมากในภาคตะวันตก และมีน้ำไหลเข้าเขื่อน 4 เขื่อนมากขึ้น คือ ศรีนครินทร์ วชิราลงกรณ แก่งกระจาน และ ปราณบุรี ดังนั้น จึงต้องมีการหารือและเตรียมการในระดับพื้นที่เพื่อซักซ้อมแผนการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเพชรบุรี การระบายน้ำเขื่อนแก่งกระจาน และแผนรองรับผลกระทบจากการระบายน้ำไปยังพื้นที่ท้ายน้ำอย่างใกล้ชิด
“จากอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเขื่อนแก่งกระจานสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยพบว่า 1 วันปริมาณน้ำขึ้นมามากถึง 150 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันปริมาณน้ำในเขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีปริมาณน้้ำประมาณ 690 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 97
% ของความจุเขื่อน 710 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณน้ำไหลเข้า 24.8 ล้าน ลบ.ม./วัน ระบายออก 9.30 ล้าน ลบ.ม./วัน คงเหลือพท.รับน้ำอักประมาณ 40 เซนติเมตร คาดว่าภายในวันพรุ่งนี้น้ำจะไหลล้นระดับ spillway ซึ่งมาตรการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน คือ การระบายทางช่องทางระบายน้ำในลำน้ำเดิมวันละ 8.6 ล้านลูกบาศก์เมตร และติดตั้งกาลักน้ำ 12 แถวระบายได้ 0.5 ล้าน ลบ.ม./วัน และ เพิ่มเครื่องสูบน้ำ Hydro Flow อีก 20 เครื่อง ระบายน้ำได้ 2.6 ล้าน ลบ.ม./วัน รวม 2 ส่วนระบายน้ำได้ 3.1 ล้าน ลบ.ม./วัน นอกจากนี้ ยังมี Spillway เมื่อน้ำถึงระดับเก็บกักสูงสุด สามารถระบายได้อีก โดยไม่กระทบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน” นายสมเกียรติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมจากเขื่อนแก่งกระจาน ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้ทำหนังสือไปยังอำเภอ นายกเทศ มนตรีเมือง และปภ.เพชรบุรี เพื่อแจ้งให้แจ้งเตือน และเตรียมช่วยเหลือชาวบ้าน จากการระบายนำออกจากเขื่อนแก่งกระจาน ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อน จนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี หากมีการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ตั้งแต่บริเวณด้านท้ายอาคารระบายน้ำล้นเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชร พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอาจจะทำให้มีระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2.87-4.51 เมตร ขณะที่พื้นที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเพชร ตั้งแต่บริเวณเขื่อนเพชร จนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรีจากตั้งแต่ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีลงมา โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คือ พื้นที่ลุ่มต่ำริมคลองท่าแร้ง ต.ท่าแร้ง ต.ท่าแร้งออก ต.บ้านแหลม ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี
“รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) มีข้อห่วงใยและข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากเกินกว่า 80% ของความจุ ให้เข้าสู่เกณฑ์ปกติโดยเร็วที่สุดเพื่อให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ปริมาณฝนที่จะตกมาเพิ่มขึ้นในช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้ โดยต้องเตรียมแผนรองรับให้พื้นที่ท้ายน้ำ โดยมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า ระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นให้ชัดเจนเพื่อประชาชนได้เตรียมการป้องกันหรืออพยพล่วงหน้า” นายสมเกียรติ กล่าว.