นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวชี้แจงให้ข้อมูลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างการอภิปราย พ.ร.ก. การเงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ว่าการปล่อยสินเชื่อให้กับสถาบันการเงินผ่านโครงการซอฟต์โลน ที่ได้ตั้งวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท ไม่ถือว่าเป็นเงินกู้ แตกต่างจากกรณีของการทำมาตรการการใช้จ่ายของภาครัฐ เพราะเมื่อ ธปท.ปล่อยเงินออกไปให้สถาบันการเงิน เมื่อครบ 2 ปีสถาบันการเงินก็จะนำเงินที่มีการกู้จาก ธปท. กลับมาคืน ดังนั้นจึงไม่ได้เป็นภาระภาษีให้กับประชาชนต่อไปในอนาคต ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการตั้งข้อสังเกต
โดยการทำซอฟต์โลนมีความพิเศษ เนื่องจากการขาดสภาพคล่องเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม หรือเป็นเรื่องเฉพาะเอสเอ็มอี จึงมีการขออำนาจให้ธปท. สามารถจัดสรรสภาพคล่องได้เฉพาะกลุ่มเป็นกรณีพิเศษ เช่นที่เคยทำครั้งเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ได้มีการขอให้สภาฯ อนุมัติออก พ.ร.ก.ทำโครงการซอฟต์โลนเช่นกัน
ผู้ว่าฯ ธปท. ระบุว่า ธนาคารกลางโดยทั่วไปมีหน้าที่บริหารสภาพคล่องในระบบการเงิน และระบบเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ หากเห็นว่ามีสภาพคล่องส่วนหนึ่งเกินในระบบธนาคารกลางจะมีหน้าที่ดูดสภาพคล่องออกมา แต่หากเห็นว่าสภาพคล่องในระบบขาดแคลนไม่สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องการส่งเสริม ธนาคารกลางจะใส่สภาพคล่องเข้าไปด้วยเครื่องมือต่างๆ เป็นการทั่วไปแทน โดยผ่านระบบสถาบันการเงิน ระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่
ทั้งนี้ จากข้อสังเกตที่ว่าการทำซอฟต์โลนเป็นการนำทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ ผู้ว่าฯ ธปท. ชี้แจงว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ มีหน้าที่หลักในการดูแลสภาพคล่องด้านต่างประเทศของระบบเศรษฐกิจไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือการขาดสภาพคล่องของเอสเอ็มอีในรูปของเงินบาท และมีกลไกในการบริหารสภาพคล่องในรูปเงินบาท จึงไม่จำเป็นต้องไปใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนแยกจากกันโดยเด็ดขาด ดังนั้นไม่กระทบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ
พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ณ วันที่ 26 พ.ค.2563 ซอฟต์โลน ธปท. ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึงทั้งขนาดธุรกิจ ประเภทธุรกิจ และภูมิภาค โดยได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 58,208 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ 35,217 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ยอยู่ที่ 1.65 ล้านบาทต่อราย โดยร้อยละ 51 เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่วงเงินเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท และร้อยละ 23 มีวงเงินเดิม 5 - 20 ล้านบาท
"ธปท. ให้ความสำคัญกับการกระจายตัวไปยัง SMEs ขนาดเล็ก โดยร้อยละ 75 ของผู้ได้รับซอฟต์โลน ธปท. เป็นธุรกิจขนาดเล็กที่มีวงเงินเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาท ร้อยละ 51 ของผู้ได้รับสินเชื่อเป็นผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์ ค้าส่ง ค้าปลีก ซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินที่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจากวิกฤตโควิด 19 อีกทั้งธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบค่อนข้างแรง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านขายของที่ระลึก บริษัทนำเที่ยว ซึ่งได้รับสินเชื่อแล้ว 2,600 ราย ยอดสินเชื่อรวม 5,100 ล้านบาท" นายวิรไท กล่าว
สำหรับข้อกังวลที่ว่า มีแต่สำนักงานใหญ่ของสถาบันการเงินที่ปล่อยซอฟต์โลน ทำให้ลูกค้าที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ได้รับซอฟต์โลนนั้น ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ร้อยละ 71 เป็นลูกหนี้ในต่างจังหวัด มีเพียงร้อยละ 29 เท่านั้นที่เป็นลูกหนี้ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล
ส่วนกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อให้เฉพาะลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำหรือเป็นลูกค้าชั้นดีนั้น จากการตรวจสอบฐานข้อมูลพบว่า ร้อยละ 70 ของลูกหนี้ที่ได้สินเชื่อซอฟต์โลนเป็นลูกหนี้ที่ถูกจัดชั้นโดยสถาบันการเงินเองว่าเป็นลูกหนี้กลุ่มความเสี่ยงปานกลางถึงค่อนข้างสูง และร้อยละ 30 เป็นลูกหนี้กลุ่มความเสี่ยงต่ำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :