ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติเอกฉันท์ ยุติการตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ ระบุไม่เข้าองค์ประกอบของรัฐธรรมนูญ

สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินประชุมพิจารณาการวินิจฉัยกรณี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกรณีพรรคพลังประชารัฐ เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 นั้น มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 88 และ 89 และมาตรา 160 ประกอบมาตรา 98 คือ ตำแหน่ง หัวหน้า คสช. ซึ่งได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย จะถือว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" หรือไม่

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย โฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยผลประชุมว่า ในที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุติการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และ จะไม่ส่งเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ศาลปกครองวินิจฉัยกรณีดังกล่าวเช่นกัน อีกทั้งการที่พรรคพลังประชารัฐได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีเห็นว่า ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับความหมายของคำว่า " เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" 

ซึ่งเคยบัญญัติไว้ในมาตรา 109 และ 40 ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ หรือ ของราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีลักษณะดังนี้ 1.ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือค่าตอบแทน ตามกฎหมาย

ทั้งนี้คำว่า "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ" เป็นถ้อยคำเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ว่า จะต้องมีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือ ลักษณะงานเดียวกันกับพนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องมีลักษณะครบถ้วนทั้ง 4 ประการตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อพิจารณาสถานะของ พลเอกประยุทธ์ แม้ว่าจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และ ปฏิบัติงานประจำโดยมีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือ ค่าตอบแทนตามกฎหมาย แต่ตำแหน่งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งโดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้บริหารราชการแผ่นดินตามประกาศแต่งตั้งหัวหน้า คสช. 

ทำให้ตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่ได้มีสถานะครบถ้วนทั้ง 4 ประการ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงไม่ได้มีสถานะเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามที่ถูกร้องเรียนดังนั้นการที่ กกต.ประกาศรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพลังประชารัฐ จึงไม่มีเหตุที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าว