ในปี 2018 ค่ามัธยฐานอายุของผู้อาศัยในสิงคโปร์อยู่ที่ 40.8 ปี และสัดส่วนของประชากรอายุ 65 ปี ที่อาศัยในสิงคโปร์ สูงขึ้นจาก 8.7 เปอร์เซ็นต์ในปี 2008 เป็น 13.7 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2018 แทบจะถึง 14 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นนิยามสังคมผู้สูงอายุของสหประชาชาติ แรงงานสูงวัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สิงคโปร์ต้องคำนึงถึง
โจเซฟิน เตียว (Josephine Teo) รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (Ministry of Manpower) กล่าวในสภาเมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคม ว่าการเจรจาสามฝ่ายระหว่างภาครัฐสิงคโปร์ แรงงาน และผู้ประกอบการ ซึ่งพิจารณาประเด็นเรื่องอายุเกษียณ มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว บรรลุข้อตกลงร่วมกันได้แล้วแม้ว่ายังไม่มีการกำหนดชัดว่าจะยืดอายุเกษียณ และอายุการจ้างงานใหม่ออกไปเป็นกี่ปี
เตียวกล่าวกับสภาว่า คณะทำงานไตรภาคีเรื่องแรงงานสูงวัย (Tripartite Workgroup on Older Workers) ซึ่งเธอเป็นที่ปรึกษานั้น ระบุว่า อายุเกษียณที่สูงขึ้นจะผลักดันให้ลูกจ้างต้องพัฒนาและปรับทักษะตัวเอง ส่วนผู้ประกอบการก็ต้องออกแบบงานใหม่ให้เหมาะสมกับแรงงาน
ปัจจุบัน อายุเกษียณของชาวสิงคโปร์อยู่ที่ 62 ปี และมีอายุการจ้างงานใหม่ (re-employment age) อยู่ที่ 67 ปี กล่าวคือ หากลูกจ้างมีอายุครบ 62 ปี นายจ้างต้องเสนอการจ้างงานใหม่ให้อีกครั้ง และให้ลูกจ้างที่มีคุณสมบัติเหมาะสมทำงานต่อได้จนถึงอายุ 67 ปี โดยในสิงคโปร์ เรื่องของอายุการจ้างงานใหม่เพิ่งมีการเจรจากันในปี 2007 ก่อนที่จะออกมาเป็นกฎหมายในปี 2012
คณะทำงานชี้ว่า การขยายเพดานอายุเกษียณ และอายุการจ้างงานใหม่นั้น ควรจะค่อยๆ บังคับใช้ทีละน้อย เพราะผู้ประกอบการต้องปรับตัว และสำคัญมากที่จะต้องสร้างความมั่นใจว่าการจ้างงานจะยังคงมีความยืดหยุ่น
“เศรษฐกิจของเรามีความหลากหลายทั้งในด้านของโมเดลธุรกิจ และเงื่อนไขในการดำเนินงาน ทางด้านแรงงานเองก็มีความต้องการที่ต่างกันไป ดังนั้น เราจึงต้องเลี่ยงการตรากฎหมายใหม่อย่างจำกัดกรอบเกินไป” เตียวกล่าว
เธออีกกล่าวว่า ในประเทศอื่นๆ ที่ขยายเพดานอายุเกษียณนั้น โดยปกติแล้วจะประกาศเจตจำนงล่วงหน้า 5 ถึง 10 ปี ก่อนบังคับใช้กฎหมาย โดยยกตัวอย่างประเทศเดนมาร์ก ซึ่งจะค่อยๆ ใช้เวลา 11 ปี ขยับอายุเกษียณจาก 65 ปี กระทั่งถึง 68 ปี ในปี 2030
เตียวระบุว่า ในหลายๆ ประเทศนั้น เรื่องของอายุเกษียณเป็นประเด็นที่ผลักดันได้ยาก
“ความไม่เชื่อใจและการแบ่งแยก ขัดขวางผู้คนจากการโฟกัสกับอนาคต เราต้องหลีกเลี่ยงเรื่องเหล่านี้ และทำให้ดีกว่าเดิม” เตียวกล่าวพร้อมเสริมว่า นี่คือเหตุผลที่คณะทำงานได้หารือร่วมกับผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงาน รวมถึงบรรดานายจ้างด้วย เพื่อเปิดรับมุมมองจากทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม มีเสียงเห็นต่างจาก แดเนียล โก (Daniel Goh) สมาชิกรัฐสภาที่มิได้เป็นตัวแทนจากเขตเลือกตั้งใด ซึ่งมองว่าควรจะยกเลิกเกณฑ์อายุเกษียณไปเลย ทางด้านเตียว มองว่า การทำเช่นนั้นจะส่งผลเสียต่อแรงงาน แม้โดยผิวเผินอาจดูเหมือนว่านั่นจะทำให้พนักงานทำงานไปจนอายุเท่าไรก็ได้ ทว่าหากยกเลิกอายุเกษียณตามกฎหมาย ผู้จ้างจะไม่มีภาระผูกพันให้ต้องจ้างงานพนักงานไปจนถึงกำหนดอายุใดๆ
ที่มา: Parliament: Govt, unions and employers agree retirement, re-employment ages should be raised