ขณะที่บรรดาประเทศในยุโรปเริ่มปรับปรุงเมืองของตนเองให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืนมากขึ้น ส่งผลให้การเจริญเติบโตของยานพาหนะไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย สวนทางกับการใช้รถยนต์ส่วนตัวในสภาพยุโรป ที่มีข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการปรับตัวในการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน ซึ่งสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากลายเป็นพาหนะที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเขตเมือง และแหล่งท่องเที่ยว
ต่างกับยานพาหนะดั้งเดิมประเภทอื่น สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ก้าวขึ้นมามีส่วนสำคัญในการเดินทางด้วยระบบ ‘เศรษฐกิจแบ่งปัน’ (Sharing Economy) ที่สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานด้วยความสะดวกในการใช้งาน เพราะในเมืองใหญ่มีสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจอดอยู่ทุกหัวมุมถนน รวมถึงมีราคาย่อมเยาว์
ธุรกิจประเภทนี้ กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับการขนส่งเมือง ที่ผู้โดยสารจำนวนมากมีปัญหากับระยะทางสุดท้ายหลังลงจากบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งมักจะไกลเกินกว่าจะเดินได้ และใกล้เกินไปจนเกิดความตะขิดตะขวงใจที่จะเรียกใช้บริการอื่นอย่างแท็กซี่
มาร์ลอน บอร์เนต (Marlon Boarnet) นักวางผังเมือง และศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ จากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย บอกว่าสกู๊ตเตอร์สามารถสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดีในระยะทางสั้นๆ นอกจากนั้น ยังใช้พื้นที่ไม่มากนัก ขณะเดียวกันก็ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ยานพาหนะสำหรับเดินทางระยะสั้น คือสิ่งที่บอร์เนตมองว่า ควรนำไปขบคิด และต่อยอด การเดินทางระยะสั้นไม่ควรจำกัดอยู่ที่การปั่นจักรยาน หรือการเดินเท้า แต่สามารถเปลี่ยรูปแบบเป็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่เบา และมีขนาดเล็กได้ แต่สิ่งสำคัญคือต้องมีการจัดระเบียบให้ดี เพื่อไม่ให้สกู๊ตเตอร์ที่วางระเกะระกะเต็มทางเท้า นำความยากลำบากมาสู่การปฏิวัติการขนส่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
แม้จะได้รับความนิยมสูง และโลดแล่นตามท้องถนนได้อย่างอิสระ แต่กฎหมายจราจรของหลายประเทศในยุโรปยังตามไม่ทัน
ในเบลเยียมสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่เร่งความเร็วได้มากถึง 30 กม./ชม. ถูกกำหนดให้ใช้ความเร็วเพียง 18 กม./ชม. ตามกฎจราจรที่ผ่านการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2007 ซึ่งจัดให้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอยู่ในประเภท ‘ยานพาหนะเคลื่อนที่ช้า’ และสามารถใช้ทางร่วมกับคนเดินเท้า หรือจักรยาน ซึ่งเบลเยียมวางแผนว่าจะปรับเพดานความเร็วของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้ขึ้นไปอยู่ที่ 25 กม./ชม. เทียบเท่ากับจักรยานไฟฟ้าในอนาคต
เยอรมันก็ได้ทำการขยับตัว เพื่อตอบรับเทรนด์ใหม่ของโลก ด้วยการวางแผนให้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปอยู่ในหมวดหมู่ ‘ยานพาหนะไฟฟ้าขนาดเล็ก’ ซึ่งผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องสวมหมวกกันน็อก และสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 20 กม./ชม. แต่ไม่สามารถใช้งานบนทางเท้าได้
ขณะที่ประเทศฝรั่งเศส เมืองหลวงอย่างปารีสได้รับความนิยมในการใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจำนวนมาก มีกฎหมายที่ลงรายละเอียดมากกว่า 2 ประเทศที่กล่าวถึงข้างต้น เมื่อพวกเขาอนุญาตให้ใช้งานสกู๊ตเตอร์บนทางเท้าด้วยความเร็ว 6 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วเทียบเท่ากับการจ็อกกิ้ง และสามาถใช้ความเร็วได้มากถึง 25 กม./ชม. บนเลนส์จักรยาน
ข้อมูลจาก Le Parisien หนังสือพิมพ์รายวันของประเทศฝรั่งเศสค้นพบว่า ในปี 2017 อัตราการเกิดอุบัติเหตุของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ารวมกับโรลเลอร์สเก็ตมีผู้บาดเจ็บทั้งหมด 284 คน และมีผู้เสียชีวิต 5 คนด้วยกัน ซึ่มากกว่าปีก่อนหน้านั้นถึง 23 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขดังกล่าวมีอัตราใกล้เคียงกันกับประเทศสเปนหนึ่งในหมุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยว มีผลให้การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเป็นพิเศษ พวกเขามีอุบัติเหตุจากยานพาหนะดังกล่าวทั้งสิ้น 273 ครั้งในปี 2018 จากตัวเลขอย่างเป็นทางการ ซึ่งตัวเลขจริงน่าจะมีมากกว่านั้น
ทว่าถ้าข้ามฝั่งไปที่ซอลเลกต์ซิตี้ เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา จะพบว่าอัตราการเกิดอุบัติเหตุจากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นถึง 161 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากถึง 1,500 ครั้งในสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม โบโด ฟอน บราวมึน (Bodo von Braunmühl) ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของ Tier Mobility บริษัทสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในเบอร์ลิน บอกว่า ในเยอรมัน 65 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุเกิดจากผู้ใช้งานที่ขาดประสบการณ์ ดังนั้น บริษัทสกูตเตอร์ควรจะย้ำเตือนให้ผู้ใช่งานใส่หมวกนิรภัยและชี้แจงกฎจราจรเบื้องต้น
ไม่ใช่ตะวันออก และตะวันตกเหมือนในอดีต แต่ข้อถกเถียงต่อสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย เช่นเดียวกับนานาประเทศ คือเห็นด้วยกับการใช้ยานพาหนะดังกล่าวตามท้องถนน เพราะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอำนวนความสะดวกจากการเดินทางระยะสั้น
ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า เป็นยาพาหนะที่อันตรายเกินไปบนท้องถนน เพราะต้องใช้งานร่วมกับรถ และจักรยานยนต์ที่รวดเร็วกว่า รวมถึงเป็นกังวลกับถนนบางส่วนที่ไม่เรียบเพราะทำจากหิน หรือความอันตรายในกรณีที่หิมะตก
ด้วยข้อขัดแย้งที่ไม่ลงตัว ทำให้ก่อนหน้านี้เยอรมันยังคงตามหลังนานาประเทศในสหภาพยุโรป ที่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอนุญาตให้ใช้งานได้ถูกต้องตามกฎหมาย และได้รับความนิยมสูงใน 20 เมือง จาก 10 ประเทศทั่วสหภาพยุโรป
อีกทั้งสมาคมนักปั่นจักรยานของเยอรมันยังได้ออกมาเตือนว่า เลนส์จักรยานที่มีอยู่ไม่มีความสามารถที่จะรองรับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าได้เพียงพอ ซึ่ง เบิร์กฮาร์ต สตอร์ก (Burkhard Stork) ประธานบริหารของสมาคมฯ กล่าวว่า ถ้าผู้มีผู้ใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้นในเขตเมืองชั้นใน ก็จะกลายเป็นฉากที่ไม่พึงประสงค์มาก
ขัดแย้งกับความเห็นของ ฟอน บราวมึน ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัทสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า พวกเขาไม่ได้เป็นศัตรูกับนักปั่นจักรยาน แต่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และนักปั่นจักรยานต้องร่วมกันต่อสู้ เพื่อพื้นที่บนถนน และเป็นทางเลือกอื่นในการเดินทางนอกเหนือจากรถยนต์ ซึ่งฟอน บราวมึนบอกว่า รถยนต์กว่า 40 ล้านคันในเยอรมันวิ่งเป็นระยะทางน้อยกว่า 3 กิโลเมตร/วัน ซึ่งเป็นระยะทางที่เหมาะสมมากๆ สำหรับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
จนกระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ภายหลังจากรัฐบาลของเยอรมันออกมาประกาศให้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนท้องถนนได้อย่างถูกกฎหมายโดยกำหนดให้ทำความเร็วสูงสุดได้ 20 กม./ชม. และผู้ขับขี่ต้องมีอายุ 14 ปีขึ้นไป ส่งผลให้อังกฤษกลายเป็นประเทศยักษ์ใหญ่เพียงประเทศเดียว ที่เราจะพบเห็นสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าโลดแล่นในพื้นที่ส่วนบุคคล หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตบางแห่งเท่านั้น
เมื่อปีที่ผ่านมา Bird บริษัทสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกาใช้เงินลงทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อนำยานพาหนะดังกล่าวมาเปิดให้บริการที่สหราชอาณาจักร โดยมีโครงการนำร่องบริเวณอุทยานโอลิมปิกลอนดอน ทั้งที่อังกฤษไม่อนุญาตให้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนท้องถนน แต่ทาง Bird หวังว่า กฎหมายดังกล่าวอาจจะได้รับการแก้ไขในอีก 12 เดือนข้างหน้า
ต่างจากซานฟรานซิสโก หรือปารีสที่ใช้งานสกู๊ตเตอร์ได้อย่างอิสระ กระทรวงคมนาคมของอังกฤษบอกว่า ในเวลานี้พวกเขาไม่อนุญาตให้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนท้องถนน และทางเท้า แต่สามารถใช้งานได้ตามพื้นที่หรือถนนส่วนบุคคล ภายใต้เงื่อนไขว่าได้รับความยินยอมจากเจ้าของสถานที่แล้วเท่านั้น
ประเทศอังกฤษได้จัดให้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเป็นยานพาหนะในหมวดหมู่ 'ยานพาหนะไฟฟ้าขนาดเล็กส่วนบุคคล' หมายความว่า พวกมันมีสถานะเดียวกันยานพาหนะที่มีมอเตอร์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เลขทะเบียน รวมถึงผู้ใช้งานต้องมีใบอนุญาตขับขี่ และหมวกกันน็อกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีที่ผ่านมารัฐบาลอังกฤษมีการหารือถึงอนาคตของสกู๊ตเตอร์ แต่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ได้สว่างไสวสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับผู้ให้บริการที่ลงทุนไปแล้วอย่าง Bird เพราะข้อสรุปจากการหารือครั้งนั้นคือ ต้องมีการแก้ไขกฎหมายจราจรแต่ ณ ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณของความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด
ที่มา :