ไม่พบผลการค้นหา
'หวย' หรือ 'Takara Kuji' มาจาก 2 คำ คือ Takara (ทะคะระ) มีความหมายว่า ทรัพย์สมบัติ ของมีค่า Kuji (คุจิ) แปลว่า สลาก การจับสลาก คนญี่ปุ่นไม่ถือว่า ทะคะระ คุจิ เป็นการพนัน แต่เป็นผลิตภัณฑ์เสี่ยงโชคที่จะมีเงินส่วนหนึ่งไปสร้างสาธารณูปโภคในประเทศ ปัจจุบันความนิยม ทะคะระ คุจิ กลับกระจุกตัวในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยคนรุ่นใหม่มองว่า หวยเป็นความฝันลมๆ แล้งๆ

"หวย หรือ ทะคะระ คุจิ ในภาษาญี่ปุ่นไม่ถือว่าเป็นการพนัน คนญี่ปุ่นคิดว่าการซื้อหวยในแต่ละครั้ง เงินส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสร้างสาธารณูปโภคของประเทศ เช่น การสร้างห้องสมุด สร้างสะพาน สร้างถนน ไม่ได้คิดว่าตรงนี้เป็นการพนัน แต่เป็นเหมือนการให้ความร่วมมือกับประเทศ" ฟุรุตะ โยชิยูกิ ผู้จัดการฝ่ายขายประจำสาขานิชิ กินซา ประเทศญี่ปุ่น เล่าให้ทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' ทราบถึงมุมมองส่วนใหญ่ต่อหวย และการเสี่ยงโชคของชาวญี่ปุ่น 

ญี่ปุ่น เป็น 1 ประเทศที่มีผลิตภัณฑ์ 'ทะคะระ คุจิ' หลากหลายรูปแบบ ทั้ง Jumbo (สลากที่ออกตามเทศกาลปีละ 5 ครั้ง), Scratch Lottery (สลากขูดแบบรู้ผลทันที), LOTO 6 (ล็อตโต้ 6), LOTO 7 (ล็อตโต้ 7), Mini LOTO รวมถึงสลากโอกาสพิเศษต่างๆ ที่ล่าสุดเพิ่งเปิดจำหน่ายสลากโอลิมปิกเมื่อวันที่ 10 ส.ค. - 10 ก.ย.นี้ และจะออกรางวัลในวันที่ 17 ก.ย. 2562 นี้ เพื่อระดมเงินบางส่วนไปใช้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 

"เมื่อมีหวยพิเศษออกมา จะได้รับความสนใจจากคนญี่ปุ่นจำนวนมาก บางครั้งใช้เวลา 4 ชั่วโมง เพื่อต่อแถวซื้อสลาก" ฟุรุตะ กล่าว

หวยญี่ปุ่น


หวยญี่ปุ่น

โฆษณา-จำหน่ายเสรี ผู้ขายเป็นผู้รับความเสี่ยง

'สุริยา สมบูรณ์' ไกด์ท้องถิ่นในประเทศญี่ปุ่น เล่าว่า 'ทะคะระ คุจิ' สามารถทำการโฆษณา หรือ แนะนำผลิตภัณฑ์ได้โดยตรง ทั้ง ทางโทรทัศน์ โปสเตอร์ หรือ แคมเปญต่างๆ โดยไม่ถือว่าเป็นการพนัน ทั้งนี้สลากทุกประเภท รัฐบาลประเทศญี่ปุ่น ผ่านสมาคมสลากกินแบ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตัวแทนจำหน่าย โดยธนาคารและสถาบันการเงินได้รับสัมปทานดำเนินการและบริหารจัดการสลาก เช่น การพิมพ์ จัดจำหน่าย ประชาสัมพันธ์ ขาย ออกรางวัล ประกาศผลรางวัล รายงานยอดจัดจำหน่าย และนำส่งเงินรายได้การการจำหน่ายให้กับรัฐ โดยในปัจจุบัน มีธนาคารมิซูโฮะ (Mizuho Bank) เป็นผู้ได้รับอนุญาต

"การบริหารจัดการจะผ่านสมาคมสลากกินแบ่งรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นหน่วยงานกำกับดูแลตัวแทนจำหน่าย โดยธนาคารมิซูโฮะเป็นผู้บริหารจัดการนำมาจำหน่ายให้กับภาคเอกชน ไม่มีการจัดสรรโควต้าให้กับเอกชนที่ต้องการนำสลากมาขาย แต่เอกชนจะต้องรับความเสี่ยงเอง หากขายสลากไม่หมด" สุริยา กล่าว

หวยญี่ปุ่นหวยญี่ปุ่น

คนรุ่นใหม่ "ไม่สนใจ" หวย

ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.takarakuji-official.jp ของญี่ปุ่นเมื่อปี 2561 เผยผลสำรวจกลุ่มคนเล่นหวยในประเทศญี่ปุ่นที่ถูกเงินรางวัล 10 ล้านเยนขึ้นไป จำนวน 996 คน พบว่า ผู้ที่ซื้อสลากจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 29 ปี โดยอาชีพที่ซื้อมากที่สุด จะเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือน 457 คน รองลงมาเป็นกลุ่มคนว่างงานและคนทำงานพาร์ทไทม์ 188 คน และแม่บ้านตามลำดับ 

"เคยมีบทความที่เขียนขึ้นในลักษณะ "วัยรุ่นสนใจหวยหน่อยไหม" เพื่อสะท้อนให้คนรุ่นใหม่มาสนใจหวย เพราะวัยรุ่นมองว่าการเล่นหวยเป็นความฝันลมๆแล้งๆ" สุริยา บอกเล่า

ทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' เดินสำรวจย่านกินซ่า แหล่งซื้อ-ขายหวยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีชาวญี่ปุ่นออกมาซื้อหวยกันต่อเนื่อง แม้จะไม่ใช่วันหยุด แต่ที่สังเกตได้ชัดว่ากลุ่มคนที่มาซื้อหวย คือ ผู้สูงอายุ สอดคล้องกับสถิติการเล่นหวยของคนญี่ปุ่นที่มีการเปิดเผย 

ความหลากหลายและเปิดกว้างของผลิตภัณฑ์ ทำให้ญี่ปุ่นไม่มีหวยใต้ดิน และไม่มีเลขดัง ตัวเลข หรือ ภาพของเกมส์ส่วนใหญ่ถูกกำหนดไว้แล้ว ผู้เล่นจะไม่เห็นเลข หรือ ภาพก่อน ยกเว้นล็อตโต้ที่เลือกเลขได้ 

แม้ว่า 'หวย' ในวัฒนธรรมไทย จะแตกต่างจาก 'หวย' ในวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่สิ่งที่มีคล้ายกัน คือทั้ง 2 ประเทศมี คือ นักเสี่ยงโชคจากผลิตภัณฑ์ที่ออกโดยรัฐบาล

หวยญี่ปุ่นหวยญี่ปุ่น

แต่ไทยยังมีปัญหาคั่งค้างรอวันแก้ไข ทั้ง 'หวยใต้ดิน' และ 'สลากเกินราคา' แต่การจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ แม้สำนักงานสลากฯ จะยอมรับว่า รูปแบบหวยในญี่ปุ่นเป็นต้นแบบที่สามารถใช้ในการศึกษาและพิจารณาการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในไทยได้ แต่หากไทยจะใช้คงต้องคำนึงถึงวัฒนธรรมเป็นหลัก และดูข้อดีและข้อเสีย ความเหมาะสมกับวัฒนธรรมไทย เพราะยังมีหลากหลายความคิดเห็นที่ยังต้องถกเถียงกันต่อ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ขวัญ โม้ชา
ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ Voice Online
0Article
0Video
0Blog