ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐกิจถดถอย' อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คนรุ่นใหม่ทนไม่ไหวต้องไปม็อบ นักเรียน-นักศึกษาชี้ ศก.ประเทศขึ้นกับการเมืองที่ดี ย้ำถ้าไม่ออกมาแสดงจุดยืน ก็ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร

บรรยากาศการเมืองไทยในช่วงเดือนที่ผ่านมาร้อนระอุอย่างหนัก จากการออกมาชุมนุมประท้วง เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงซึ่งนำโดยนักเรียน นิสิต นักศึกษา เริ่ม 18 ก.ค. กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) รวมตัวกันเรียกร้อง 3 ข้อเสนอสำคัญต่อรัฐบาล ได้แก่ ยุบสภา, หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยได้รับความสนใจอย่างสูงจากโลกออนไลน์ สื่อต่างประเทศ ทั้งยังมีผู้เข้าร่วมชุมนุมในครั้งนั้นกว่า 2,000 คน 

ไล่มาจนถึงเวทีแฟลชม็อบ 'ธรรมศาสตร์จะไม่ทน' เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่มีทั้ง อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ประธานกลุ่มเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย เข้าร่วมปราศัย ทั้งยังมีการเปิดคลิปวิดีโอแสดงความเห็นของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ในตอนท้าย จนโฆษกกระทรวงกลาโหม ออกมาแสดงความกังวลว่าสถานการณ์การชุมนุมอาจนำไปสู่การเรียกร้องในประเด็นที่ละเอียดอ่อน

แม้ภาพจำหลักของม็อบคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นจะราวกับถูกขับเคลื่อนด้วยแรงส่งทางการเมืองเป็นสำคัญ แต่จากการพูดคุยกับนักเรียน-นักศึกษาที่ออกมาชุมนุมในหลายม็อบ 'วอยซ์ออนไลน์' พบว่า มิติด้านอนาคตเศรษฐกิจประเทศเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เหล่าคนรุ่นใหม่ต้องออกมาเรียกร้องขอทวงคืนอนาคตตัวเอง


เศรษฐกิจตก อนาคตดับ

เยาวชนหญิงรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ท่ามกลางการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชี้ว่า สถานการณ์หลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโรคระบาดนี้ ทำให้เธอสิ้นหวังอย่างมากกับอนาคตของตนเอง และต้องกลับมานั่งตั้งคำถามว่า "ทำเพื่ออะไร หนูสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้ว หนูจะมีอนาคตที่ดีไหมในรัฐบาลนี้"

ขอเสียงหน่อย อนค ศก
  • เยาวชนหญิงรายหนึ่ง

หญิงสาวที่เพิ่งก้าวเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาอธิบายเพิ่มว่า ตอนนี้ร้านขายของชำของครอบครัวกำลังเจอวิกฤตเรื่องลูกค้าหายอย่างหนัก ทั้งยังแทบไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างที่ควรจะเป็นจากภาครัฐ แม้จะดิ้นรนด้วยการลดราคาสินค้า

ทุกวันนี้รับรู้ถึงภาระของผู้ปกครอง ตกอยู่ภาวะกลืนไม่เข้าคลายไม่ออก ทำได้แต่นำเงินเก็บตัวเองมาใช้ในการมาเรียนเพื่อที่จะได้ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่ โชคดีว่ามหาวิทยาลัยยังลดค่าเทอมลงไปบ้าง ซึ่งผลกระทบเหล่านี้บั่นทอนกับอนาคตของเธอโดยตรงโดยเฉพาะด้านการศึกษา 

"หนูต้องการให้รัฐบาลรับผิดชอบผลงานของตัวเองให้มากกว่านี้ เพราะว่าการบริหารของรัฐบาลมันผิดพลาดให้อภิสิทธิ์วีไอพี ทำให้ทุกอย่างมันแย่ลง เศรษฐกิจมันแย่ลง จากที่ต่อให้มันไม่ดีขึ้น ให้มันประคองตัว เรายังใช้เงินเท่าเดิม ก็ยังโอเค แต่นี่เขาทำให้ทุกอย่างมันแย่ลง ในเมื่อทำแบบนี้เขาก็ต้องรับผิดชอบ ผลการกระทำของตัวเอง"

ในมิติที่ไม่ต่างกัน เด็กนักเรียนชายคนหนึ่งเปิดเผยว่า ตัวเขาเอง "แทบไร้ซึ่งความหวัง" กับสิ่งที่ประเทศเป็นอยู่ พร้อมอธิบายเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักเรียน-นักศึกษา ต้องออกมาเป็นแกนนำในการประท้วงครั้งนี้

"เศรษฐกิจมันย่ำแย่มากๆ ถ้าเราไม่ออกมาแล้วเมื่อไหร่เราจะได้อนาคตที่มันดีขึ้นกว่านี้ รุ่นลูกรุ่นหลานเราหรือว่ารุ่นของผมในอนาคต โตไปเราก็มีเศรษฐกิจที่ย่ำแย่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ"

พร้อมกันนี้นักเรียนชายคนดังกล่าวยังเสริมความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ตนเองต้องเผชิญผ่านการตอกย้ำความสมัครใจในการออกมาชุมนุมครั้งนี้ว่า ตนเองออกมาชุมนุมโดยไม่ได้รับค่าจ้างจากใคร แต่ก็รับว่าถ้ามีคนจ้างก็จะทำ เพราะขณะนี้แทบจะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมอยู่แล้ว

"ถ้ามีคนจ้างจะมาไหม มาครับ! ขนาดเงินค่าเทอมผมยังไม่มีเลย" นักเรียนชาย กล่าว
ขอเสียงหน่อย อนค ศก
  • นักเรียนชายรายหนึ่ง

เศรษฐกิจ = ประชาชน = ความรับผิดชอบของรัฐบาล

เด็กชายคนดังกล่าว อธิบายถึงความเชื่องโยงในมิติของเศรษฐกิจกับการเมืองว่าเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ได้เพราะระบบเศรษฐกิจโดยธรรมชาติเป็นทั้งเครื่องสะท้อนและแรงส่งเสริมประชาชน ดังนั้นการที่ประเทศขับเคลื่อนไปโดยรัฐบาลที่ "ไม่ได้บริหารอะไรให้มันดีกับประชาชนเลย" จึงเป็นตัวฉุดรั้งสำคัญไม่ให้อนาคตของชาติก้าวไปข้างหน้าได้อย่างประเทศอื่นๆ 

"คุณจะบอกว่ามันไม่เกี่ยว คุณจะบอกว่าคุณไม่อินการเมือง คุณจะบอกว่าคุณไม่คิดว่าการเมืองมีผลกับพวกคุณเพราะคุณยังเด็กอยู่ มันไม่จริง การเมืองนั้นมีผลต่อคุณพ่อคุณแม่ มีผลกับเศรษฐกิจทั้งครอบครัว มีผลต่อระบบการศึกษานั่นคือสิ่งที่เราต้องออกมาต่อสู้"

ขณะที่หนึ่งในแนวร่วมนวชีวิน (New Life Network) ผู้ออกมาแสดงจุดยืนผ่านการอดอาหาร ชี้ว่า แทบไม่เคยมีช่วงเวลาไหนในสังคมที่ตนเองรู้สึกไม่มีโอกาสในการเลื่อนสถานะทางชนชั้นมากเท่าปัจจุบัน โดยเหตุผลหลักมาจากการบริหารเศรษฐกิจประเทศที่ไม่เห็นหัวคนมีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ

ภูมิวัฒน์ ทำเนียบ แนวร่วมนวชีวิน อดข้าวประท้วง_200720_1.jpg
  • ชายหนุ่มแนวร่วมนวชีวิน

ชายหนุ่มกล่าวให้เราฟังด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวว่า นับวันทุนใหญ่หรือบริษัทใหญ่ๆ กลับเดินหน้าได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลตลอดเวลา ทั้งๆ ที่กลุ่มคนเหล่านี้ยังสามารถยืนบนขาตัวเองได้โดยไม่ล้มลงมา ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ เอสเอ็มอี กลับแทบจะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือทางการเงินซึ่งเปรียบเสมือนลมหายใจสุดท้ายของพวกเขา 

ด้วยสภาวะเช่นนี้ ชายหนุ่มเชื่อว่า อีกไม่นานหากเศรษฐกิจไทยไม่ดีขึ้น ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนไม่น้อยอาจพ่ายแพ้ให้กับวิกฤตโรคระบาด ซึ่งท้ายที่สุดผลกระทบก็จะกลับไปตกที่ครอบครัว บุตรหลานของพวกเขาก็จำต้องเสียโอกาสในการพัฒนาตนเอง  

"เพราะรัฐบาลเอาแต่อุ้มนายทุนใหญ่ เพราะรัฐบาลเอาแต่อุ้มผู้ที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจสูง แต่กลับไม่สนใจว่าความยั่งยืนหรือเสถียรภาพของคนในชาติ หรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะเป็นยังไง ปัญหาปากท้องของพี่น้องยังว่างเปล่าไม่ได้รับการแก้ไข"


คนรุ่นใหม่อยากได้ ศก.แบบไหน 
pride นักเรียน

เด็กหญิงจากม็อบเกษตรฯ คนเดิม ชี้ว่า ตนเองไม่ได้มีปัญหากับเงินเดือน 15,000 บาท หากเงินจำนวนนั้นไม่ได้ต้องใช้ไปแทบทั้งหมดเพื่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต เธอชี้ว่า หากรัฐบาลสามารถจัดการให้ค่าครองชีพของประชาชนถูกลงกว่านี้ การได้เงินเดือนด้วยจำนวนดังกล่าวก็ไม่ใช่ปัญหาอะไร โดยเฉพาะกับตัวเธอที่ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนทุกความฝันของตนเอง เป็นเพียง "ลูกชาวบ้านธรรมดา"

ขณะที่ ชายหนุ่มจากนวชีวิน ไล่เรียงข้อเสนอทั้งการปรับตัวของรัฐบาลให้กลับมาดูแลประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่เพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพิ่มเติมการช่วยเหลือแรงงานที่ถูกให้ออกจากงานหรือคาดว่าจะเป็นแรงงานที่ตลาดไม่ต้องการผ่านการพัฒนาทักษะความรู้แรงงาน

ทั้งยังส่งเสริมให้รัฐบาลส่งเสริมโครงการรายได้ขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน (Universal Basic Income) เพื่อเสมือนผนังพักพิงให้กับผู้คน พร้อมย้ำว่า เงินช่วยเหลือของรัฐบาลต้องไปอุ้มผู้ที่ลำบากจริงๆ

ตามข้อมูลสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่าตัวเลขผู้ว่างงานนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562 จนถึงเดือน ก.ค. 2563 มีแล้วกว่า 3.39 ล้านคน ทั้งยังมีความเสี่ยงที่บัณฑิตจบใหม่ในปี 2564 อีกราว 500,000 คน จะไม่มีงานรองรับจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยของประเทศ

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยออกมาประเมินว่าจีดีพีไทยปีนี้อาจติดลบหนักถึง 9.4% จนนำไปสู่วังวนของการเลิกจ้างงานและกลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ได้ยากของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ให้เสียโอกาสทางชีวิตมหาศาล

เป็นที่ทราบดีว่าเยาวชนมีหมุดหมายสำคัญในการทวงคืนประชาธิปไตย แต่ภายใต้ภาพจำเหล่านั้นยังมีเงื่อนไขทางปากท้องและอนาคตที่พวกเขาต้องการออกมารักษาไว้เช่นเดียวกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า สาเหตุที่ต้องออกมาชุมนุมเพราะพวกเขาคือคนที่ต้องแบกภาระจากสภาวะปัจจุบันที่มองว่าไม่เป็นธรรมและไม่นำไปสู่อนาคตที่สดใส


ข่าวที่เกี่ยวข้อง;