รองศาสตราจารย์ พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า กล่าวว่า ภาพรวมของคณะรัฐมนตรีประยุทธ์2 มีลักษณะผิดความคาดหมายของหลายคน เพราะแต่งตั้งคนมีชื่อเสียงไม่ดี มีทั้งคนมีประวัติต้องคดี ถูกร้องเรียนจาก ป.ป.ช. มีบางคนเป็นเครือญาติกับผู้มีอิทธิพล ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลชุดนี้เป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ทั้งที่ควรจะมีคนใหม่ นักการเมืองรุ่นใหม่มาบริหารประเทศ กลับกลายเป็นการนำคนที่มีลักษณะสีเทาเข้ามา
กรณีของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมในอดีต ที่ไม่ได้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น รองศาสตราจารย์ พิชาย ให้ความเห็นว่า ในยุคนั้นเมื่อปี 2535 นายณรงค์มีชื่อได้รับการเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมามีข่าวว่าอยู่ในแบล็คลิสต์บุคคลต้องห้ามเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาจากคดียาเสพติด จึงทำให้ไม่มีการเสนอชื่อนายณรงค์เป็นนายกรัฐมนตรี
ทำให้เข้าทางกลุ่ม รสช.ในยุคนั้น ที่มีการตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมาลงเลือกตั้ง จึงเสนอชื่อพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีแทน เป็นความพยายามใช้ข้ออ้างเรื่องความอื้อฉาวในต่างประเทศเปลี่ยนตัวบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ให้สอดคล้องกับคนที่กลุ่มอำนาจในยุคนั้นพอใจและต้องการ
แต่มาถึงยุคปัจจุบันการแต่งตั้งบุคคลเป็นรัฐมนตรี ที่มีเรื่องอื้อฉาวในต่างประเทศ ติดคุกค้าคดียาเสพติด แต่กลับกลายเป็นว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน อยากให้เป็นรัฐมนตรีโดยไม่สนใจกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทั้งยังออกมาปกป้อง แสดงให้เห็นว่าในเรื่องเดียวกันนี้ หากผู้มีอำนาจมีความต้องการต่างกัน ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างกันได้ แล้วแต่ผู้มีอำนาจจะอ้างเช่นไร
อย่างไรก็ตาม กรณีการถูกจำคุกในต่างประเทศจะมีผลต่อเรื่องคุณสมบัติหรือไม่นั้น ฝ่ายค้านอาจต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการจำคุกรวมถึงการจำคุกในต่างประเทศด้วยหรือไม่ หรือเอาเฉพาะการติดคุกในประเทศไทย ขณะเดียวกันคนที่เป็นรัฐมนตรีรวมถึงนายกรัฐมนตรี ที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ คนที่ต้องคดีเช่นนี้ที่ถูกให้ออกจากราชการ ถือได้ว่ามีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์หรือไม่ ซึ่งต้องร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเช่นกัน
รองศาสตราจารย์ พิชาย เชื่อว่า กรณีของร้อยเอกธรรมนัสจะไม่กระทบกับรัฐบาลในภาพรวม เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัว แต่สังคมจะตั้งคำถามว่าเหตุใดนายกรัฐมนตรีไม่มีการตรวจสอบให้มีความชัดเจน นายกรัฐมนตรีได้อ่านรัฐธรรมนูญหรือไม่ พร้อมกับความชอบธรรมของรัฐบาลที่จะลดต่ำลง ส่งผลให้ความชอบธรรมในการบริหารประเทศลดลงตามไปด้วย
การที่ร้อยเอกธรรมนัสให้สัมภาษณ์ว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของรัฐบาล เป็นบุคคลหลักที่ประสานงานในการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าหากร้อยเอกธรรมนัสล้ม รัฐบาลจะล้มตามไปด้วย คนอาจเข้าใจได้ว่าร้อยเอกธรรมนัสอาจกุมความลับบางอย่างไว้ ถ้าไม่ได้รับการแต่งตั้งอาจนำความลับมาแฉซึ่งจะมีผลกระทบต่อรัฐบาล ตอนนี้ร้อยเอกธรรมนัสจึงมีอิทธิพลต่อการดำรงอยู่และการล่มสลายของรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งอาจเป็นการประเมินตนเองสูงเกินไปหรือไม่
รองศาสตราจารย์ พิชาย ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า รัฐบาลชุดนี้มีองค์ประกอบของหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเครือข่ายส่วนตัวของพลเอกประยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็นพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ร่วมกันมา 4-5 ปี ทำงานเข้าขารู้ใจกันดี บุคคลเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ
โดยเฉพาะนายสมคิดและพลเอกประวิตร ซึ่งคนในพรรคพลังประชารัฐให้ความเกรงใจ กลุ่มคนเหล่านี้จึงถูกแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อเข้ามากุมสภาพภายในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งการสืบทอดอำนาจเกิดขึ้นและมีความชัดเจนตั้งแต่การแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนแล้ว การตั้งบุคคลเหล่านี้ให้กลับมาเป็นรัฐมนตรีอีกเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการสืบทอดอำนาจเท่านั้น
รองศาสตราจารย์ พิชาย ประเมินอายุของรัฐบาลประยุทธ์2ว่า หากรัฐบาลอยู่ได้ถึงปีก็ถือว่าเก่งแล้วภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ เพราะจะมีเรื่องราวต่างๆ มากมายเกิดขึ้นตามมาหลังรับตำแหน่ง โดยเฉพาะการออกมาเรียกร้องของเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งรัฐบาลได้ให้สัญญาว่าจะให้ค่าแรง 425 บาท แต่ตอนนี้กลับมีท่าทีจะบิดพลิ้ว ซึ่งหากไม่ทำตามจะมีคนออกมาทวงสัญญากับรัฐบาลอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ เมื่อกระแสความชอบธรรมที่ต่ำอยู่แล้ว บวกกับการที่รัฐบาลบริหารไม่ดี ความชอบธรรมก็จะยิ่งลดน้อยลง ซึ่งจะมีปัญหากับตัวของรัฐบาลเอง และเมื่อความชอบธรรมทางสังคมน้อยลง คนที่เคยสนับสนุนรัฐบาลอย่าง 250 ส.ว.ก็อาจเปลี่ยนใจได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :