ไม่พบผลการค้นหา
'พิชัย' อัด 'ประยุทธ์' แจงมั่วเรื่องพลังงานในศึกอภิปรายฯ เปิดบอร์ด PTTGC พบ คนสนิท 'ประยุทธ์' นั่งกรรมการ เหน็บคนฉลาดหรือไม่อยู่ที่การกระทำ ด้าน 'กฤษฎา' เตือนอุทธาหรณ์ 'ศรีลังกา' ขู่รัฐบาล ติง 'ประยุทธ์' วางนโยบายเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับโลก

วันที่ 26 ก.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงผลกระทบสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลว่า รัฐบาลใช้พวกมากลากไป ทำให้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งที่ขัดความรู้สึกของประชาชน อีกทั้งการเปิดโหวตของสื่อมวลชน และประชาชน 500,000 กว่าคน 97% ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม อีกทั้งปัญหาของการแจกกล้วย 

พิชัย กล่าวว่า ตนขอชื่นชมพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ทำได้ดี โดยเฉพาะ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย และสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) และส.ส.อีกหลายท่านที่ทำได้ดีเช่นกัน 

พิชัย กล่าวต่อว่า ในการอภิปรายฯ ที่ผ่านมา ผิดหวังกับ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด และจะส่งผลกระทบต่อพรรคประชาธิปัตย์อย่างมาก อีกทั้งมีการชี้แจงที่ย้อนแย้ง และข้อครหาทุจริตคอรัปชั่น ตนมองว่า หากยังอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ โอกาสสูญพันธุ์ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็เป็นไปได้ 

พิชัย กล่าวว่า ในส่วนของเศรษฐกิจ และพลังงาน ตนชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ตอบมั่ว ในเรื่องที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ไล่เรียงปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นข้อมูลสาธารณะ ไม่ได้มีการตกแต่งตัวเลข แต่นายกฯ กลับเถียงแบบงงๆ แม้จะอ้างว่า ตนจ่ายหนี้มากที่สุด แต่ทำไมหนี้สาธารณะถึงได้พุ่งไปถึง 10 ล้านล้านบาท 

พิชัย เสริมว่า เรื่องของ สุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้มีการอภิปรายเรื่องค่าการตลาด ที่ปล่อยให้ค่าการตลาดขึ้นสูงถึง 3-4 บาท ซึ่งเป็นภาระหนักของประชาชน โดยจริงๆ แล้วนั้น ค่าการตลาดลดได้ จึงสงสัยว่า นี่เป็นรัฐบาลของปตท. หรือรัฐบาลชองประชาชน ต่อมาคือ ค่าประกันกำไร หรือค่าความพร้อม ที่มีการให้ใบอนุญาตพลังงานเยอะไป เพื่อเอาใจนายทุนพลังงาน ซึ่งทะลุไปถึง 54% โดยหลักการให้เพียงแค่ 15% ทำให้ประชาชนมาแบกรับค่าใช้จ่ายปีละเกือบ 1,000 ล้านบาท ผสมกับค่าไฟฟ้าที่พุ่งไปถึง 6-7 บาท 

นอกจากนี้ ในการอภิปรายที่ผ่านมา จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ได้พูดถึงเรื่องการนำก๊าซจากอ่าวไทยขึ้นมา และพบว่ามีปัญหาการสัมปทาน แต่พล.อ.ประยุทธ์ ตอบมั่วว่า ไม่มีปัญหา ขณะที่ สุพัฒน์พงษ์ บอกว่า มีปัญหา แสดงให้เห็นว่า เป็นการพูดไม่ตรงกัน และทั้งคู่ยังตอบเรื่องการลงทุนกว่า 184,000 ล้านบาท ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ว่า ในภาวะเช่นนี้ ประเทศไทยไม่ควรนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ แต่รัฐบาลก็ยังมาโกหกประชาชนว่า PTTGC เป็นเอกชน ไม่ใช่ของรัฐบาล ทั้งที่ความจริงแล้วต้องมีการมาขออนุญาตต่อรัฐบาล 

PTTCG ถือหุ้นโดย ปตท. 45.18 % ซึ่งกรรมการคือ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรมว.พลังงาน ที่นั่งบอร์ดปตท. ในช่วงคสช. นอกจากนี้ยังมี อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อดีตรมว.การคลัง และกฤษฎา บุญราช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย รวมถึง พล.ท.นิธิ จึงเจริญ ที่เป็นคนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งบอร์ดผู้บริหารบริษัท PTTGC อีกด้วย 

พิชัย ยังได้กล่าวถึงประเด็นน้ำมันปาล์มกว่า 2,100 ล้านบาท จำนวน 70,000 กว่าตัน ที่ได้หายไป แต่ สุพัฒนพงษ์ ก็ไม่ได้ตอบ ทำเป็นเนียบเงียบ เรื่องสวนปาล์ม และเรื่องที่คาใจ และเป็นจุดตายของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ เหมืองทองอัครา ที่แม้ว่า หน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐจะออกมาคัดค้าน แต่ก็ยังดื้อดึงทำต่อ ซึ่งเรื่องนี้ต้องถึง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 

"พล.อ.ประยุทธ์ พยายามปฏิเสธว่า ไม่ได้มี 84,000 เซลล์ แต่มี 840,000 ล้านเซลล์ นั่นก็ยังผิด การจะมีกี่ล้านเซลล์ พิสูจน์ว่าตนฉลาดหรือไม่ฉลาด อยู่ที่การกระทำ คนฉลาดไม่ยอมรับหรอกว่า ปฏิวัติจริง คนข้างๆ ที่ชี้ท่านยังฉลาดกว่า ท่านใช้สมองส่วนไหนคิด และภูมิใจในการปฏิวัติ" พิชัย กล่าว 

นอกจากนี้ พิชัย ยังได้กล่าวถึง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดว่า ขอให้ท่านมีความสุข และขอให้ท่านได้กลับมาช่วยเหลือประเทศไทย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเสื่อมถอยลงเรื่อยๆ 

กฤษฎา -045B-45CB-87E4-A495EA2A1D2C.jpeg

'กฤษฎา' ชี้ 'ประยุทธ์' วางนโยบายเศรษฐกิจไม่สอดคล้องเศรษฐกิจโลก ชี้ 'วิกฤตศรีลังกา' เป็นอุทาหรณ์ หากยังบริหารล้มเหลวผิดพลาด

ด้าน กฤษฎา ตันเทอดทิพย์ ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ระบุถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ล้มเหลว และอุตสาหกรรมที่เสื่อมถอย จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล ว่า สิ่งที่น่าสนใจคือตัวเลขที่พี่น้องประชาชนโหวตจากทางบ้าน กว่า 90% ที่ไม่เอารัฐบาล และไม่เอาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดนี้ ซึ่งมองว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีผลเป็นอย่างมาก จากการที่นายกฯ พยายามชี้แจงถึงยุทธศาสตร์ 3 แกน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 8 ปีที่ผ่านมานั้น ตนมองว่า โครงสร้างพื้นฐานของไทยล้มเหลวมาตลอด

กฤษฎา กล่าวว่า International Institute for Management Development (IMD) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จัดลำดับโครงสร้างพื้นฐานของไทยอยู่ที่ลำดับ 44 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ และตนมองว่า ตอนนี้เหมือนเรากินบุญเก่า การลงทุนใหม่มีน้อยมาก ไม่ได้ดึงดูดนักลงทุน วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลกระทบของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็น สงครามการค้าระหว่างจีน และสหรัฐฯ หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลกระทบ แต่แน่นอนว่า ประเทศเล็กๆ อย่างเราได้รับผลกระทบไปด้วย แม้ว่าเราเปลี่ยนจาก อนาล็อก เป็นดิจิทัล แต่หากผู้นำไม่มีความสามารถ เราไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันได้ 

กฤษฎา กล่าวว่า ประเทศศรีลังกา เป็นอุทาหรณ์ให้ประเทศไทย หากยังบริหารแบบนี้ต่อไป ตอนนี้เศรษฐกิจโลกขึ้นอยู่กับต้นทุนทางพลังงาน ก๊าซธรรมชาติ และอาหาร สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบรุนแรงต่อ 3 สิ่งนี้ เนื่องจากรัสเซียเป็นประเทศต้นทุนในการผลิตน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติที่อยู่ลำดับต้นๆ 

กฤษฎา กล่าวต่อไปว่า รายได้หลักของประเทศไทยมาจาก การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม หากประเทศไทยไม่พร้อม ธุรกิจไม่เกิดการสภาพคล่อง ธุรกิจขนาดกลาง และเล็ก ตายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากรัฐบาลไม่เข้าใจว่า เศรษฐกิจฐานรากมีความสำคัญ และนโยบายต่างๆ ไม่ได้สอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจโลก

กฤษฎา เสริมว่า วันนั้นรัฐบาลมีนโยบายคนละครึ่ง ซึ่งเหมือนจะดี แต่มีการเก็บภาษีย้อนหลัง ทำให้ร้านค้าต้องแบกรับค่าใช้จ่าย อีกทั้งนโยบายหลายตัวที่ไม่สอดคล้องเช่น ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง โดยวันนี้ตนมองว่า รัฐกำลังเอื้อรายใหญ่ ไม่ใช่รายเล็ก สวนทางกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คนไทยจะอยู่ยากขึ้นหากรัฐบาลยังบริหารแบบนี้ต่อไป