ไม่พบผลการค้นหา
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ 'ธนาธร' วิจารณ์ระบบการเมืองภายใต้การบริหารงานของ "พล.อ.เปรม" ไม่ใช่วิจารณ์ตัวบุคคล เหมือนที่ 'อรรถวิชช์' เข้าใจ

รศ.ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิจัยอาวุโส แสดงความเห็นกรณีคลิปการให้ความเห็นของเรื่องรัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตย ในงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า 

ความขัดแย้งระหว่างธนาธรกับอรรถวิชช์ในงานสัมมนาที่ ม.ธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ (28 พ.ค.) เรื่อง รัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตย บอกอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับสังคมและการเมืองไทย 

เรื่องแรกคือ ความแตกต่างระหว่างนักการเมืองรุ่นใหม่ 2 คนที่แม้มีอายุเท่ากัน (41 ปี) แต่เห็นได้ชัดจากการอภิปรายนี้ ทั้งสองคนอยู่คนละ wave length ซึ่งทั้งคู่เถียงกันในประเด็นและบริบทที่ต่างกัน ความแตกต่างนี้ บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องของสาขาการศึกษาที่ต่างกัน นายอรรถวิชช์เป็นนักกฎหมาย เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง ส่วนธนาธรมีพื้นความรู้ในด้านวิศวะ เศรษฐศาสตร์การเมือง การเงินและกฎหมายระหว่างประเทศ นั่นอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งของความแตกต่าง แต่ที่สำคัญกว่า น่าจะมาจากความสนใจ ความหลงไหลซึ่งมาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเองในด้านการเมืองสังคมและประวัติศาสตร์ในมิติที่กว้างซึ่งในประเด็นหลังนี้ นายธนาธรมีความโดดเด่นกว่านายอรรถวิชช์อย่างชัดเจนในฐานะนักคิดและมีความสามารถในการถ่ายทอดที่สูง 

ด้วยเหตุนี้เราจึงพบว่า เมื่อธนาธรเสนอความคิดหรือสมมติฐานที่เป็นวิชาการ เรื่องพลเอกเปรม ซึ่งท่านพึ่งเสียชีวิต ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องรัฐสวัสดิการของไทยว่า ถ้ารัฐเปรม (ซึ่งเป็นรัฐที่ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยเพียงครึ่งใบในช่วงทศวรรษ 80) ดำรงอยู่เรื่อยมาในประเทศไทยคงเป็นการยากที่ประเทศไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ กล่าวโดยย่อสมมติฐานของนายธนาธรนั้นเกิดจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งรัฐสวัสดิการมักจะมีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของประชาธิปไตยที่เป็นปึกแผ่น โดยเฉพาะอำนาจการต่อรองของชนชั้นแรงงานมีสูง ซึ่งไม่ใช่กรณีของประเทศไทย เพราะตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ รัฐมักจะเอียงจะข้างฝ่ายนายทุนมากกว่าส่งเสริมการรวมตัวของแรงงาน เน้นความเจริญเติบโตมากกว่าการกระจายรายได้และสวัสดิภาพของชนชั้นแรงงาน เป็นต้น 

จะเห็นได้ว่านายธนาธรไม่ได้กล่าวอะไรเกี่ยวกับพลเอกเปรมเลยในเชิงส่วนตัว เขากล่าวถึงเพียงสถาบันหรือระบบการเมืองภายใต้รัฐเปรม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของรัฐสวัสดิการ เพราะฉะนั้น นายอรรถวิชช์จึงควรมุ่งอภิปรายประเด็นและสมมติฐานที่นายธนาธรได้กล่าวมา ในทางตรงกันข้าม นายอรรถวิชช์กลับเบี่ยงประเด็นไปที่ผลงานหรือคุณูประการของ พล.อ.เปรมในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และแสดงความรู้สึกไม่พอใจ ซึ่งจริงๆ นายอรรถวิชช์เข้าใจผิด เขาไม่รู้ตัวว่าเขาพูดกับนายธนาธรคนละเรื่อง คนละประเด็น ถ้าจะคุยกันเรื่องคุณงามความดีของพลเอกเปรมควรจะเป็นการสัมมานาในชื่อเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องรัฐสวัสดิการกับประชาธิปไตย 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างในคุณภาพของนักการเมืองรุ่นใหม่ทั้ง 2 คน และอาจจะหมายถึงความแตกต่างในคุณภาพระหว่างนักการเมืองรุ่นใหม่ รุ่นเก่าและกลุ่มอื่นๆในสังคม ดังที่เราจะเห็นได้จากการนำเอาความคิดหรือสมมติฐานของนายธนาธรไปบิดเบือนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำลาย จากคลิปที่เกิดจากการปั้นน้ำเป็นตัว "ตายไปก็ดี รัฐสวัสดิการจะได้เกิด" สะท้อนให้เห็นถึงความอับเฉาด้านปัญญาของคนในสังคมที่มีความเห็นต่างกันทางการเมือง

นอกจากนั้นสังคมไทยยังเป็นสังคมฉาบฉวย ตื้นเขิน ไม่ยอมรับความคิดเห็นเชิงวิพากษ์ที่มีความสร้างสรรค์ ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า สมมติฐานที่นายธนาธรได้กล่าวในครั้งนี้ จริงๆ แล้วเป็นอะไรที่น่าสนใจ ควรได้รับได้การอภิปรายและศึกษาต่อให้ลึกซึ้ง เช่น เปรียบเทียบพัฒนาการของรัฐสวัสดิการกับพัฒนาการของประชาธิปไตยในไทย ในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันโดยเปรียบเทียบ 3 สมัย ได้แก่ สมัยเผด็จการ สมัยประชาธิปไตยครึ่งใบหรือประชาธิปไตยแบบชี้นำ และ สมัยประชาธิปไตยเต็มใบ

คลิปต้นเรื่องที่มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์


รับฟังคลิปเสวนาฉบับเต็มเฟซบุ๊กเพจ We Fair