ประมาณการเศรษฐกิจประจำปีนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์จากหลายบริษัทออกมาประเมินลดลงอย่างชัดเจน โดย 'มอร์แกน สแตนลีย์' มองไว้ที่ร้อยละ 0.9 จากสมมติฐานสถานการณ์ปกติ ขณะที่ 'โกลด์แมน แซคส์' มองไว้ที่ร้อยละ 1.25 และ เอสแอนด์พีโกลบอล ประเมินในช่วงร้อยละ 1-1.5 ซึ่งเป็นผลหลักมาจากการระบาดของโควิด-19
เมื่อนำค่าประเมินดังกล่าวไปเทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2552 หลังมีวิกฤตการเงินโลก ตามข้อมูลจากธนาคารโลกพบว่าจีดีพีติดลบถึงร้อยละ 1.679 แม้อาจจะดูว่าเศรษฐกิจปีนี้ไม่วิกฤตมากนัก แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขดังกล่าวเป็นการสมมติจากสถานการณ์ค่าเฉลี่ยไม่ใช่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019
นอกจากนี้ เมื่อย้อนกลับไปมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโรคระบาดครั้งที่ผ่านมาอย่างซาร์สในประเทศจีน เมื่อปี 2545 ตามข้อมูลจากงานวิจัยของ 'วิคตอเรีย แฟน' 'ดีน เจมิสัน' และ 'ลอร์เลนซ์ ซัมเมอร์' ยังประมาณการสูญเสียรายได้ของโลกต่อปีไปถึงร้อยละ 0.6 หรือคิดเป็นมูลค่า 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 16.32 ล้านล้านบาท ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 1,000 รายทั่วโลก
ทำไม 'วิกฤตสุขภาพ' ถึงกลายร่างเป็น 'วิกฤตการเงิน'
โดยธรรมชาติของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไม่สามารถแพร่กระจายไปบนอากาศได้ด้วยตัวเอง แต่จำเป็นต้องอาศัยมนุษย์เป็นพาหะในการแพร่เชื้อ เพราะฉะนั้นการจะหยุดการแพร่กระจายซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของทุกประเทศคือการหยุดการเคลื่อนที่ของมนุษย์ แต่การกระทำเช่นนั้นส่งให้เกิดผลเสียทั้งทางตรงและทางอ้อม
เมื่อมีการสั่งปิดเมือง ปิดประเทศ หรือแม้แต่การปิดสถานที่บางส่วน นั่นหมายความว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องยุติชั่วคราว เช่น ประกาศการสั่งปิดสถานศึกษา ปิดสถานบันเทิง ปิดแหล่งรวมผู้คนจำนวนมาก อาทิ สนามมวย สนามกีฬา สนามชนไก่ ฟิตเนส ร้านนวด รวมถึงอาบอบนวด ของประเทศไทย หรือการปิดโรงงาน ยกเลิกเที่ยวบิน ยกเลิกการจองห้องพักล่วงหน้าในต่างประเทศ
ผลกระทบโดยตรงย่อมตกไปอยู่กับผู้ประกอบการกิจการต่างๆ เหล่านั้น ที่จำเป็นต้องแบกภาระต้นทุน รวมถึงดอกเบี้ยต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่สามารถหารายได้ได้ นอกจากนี้ในฝั่งพนักงานประจำ ก็ต้องรับมือกับความเสี่ยงเรื่องการหยุดงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือการโดนลดเงินเดือนลง ขณะที่ฝั่งฟรีแลนซ์ก็ต้องแก้ปัญหาการถูกยกเลิกงานเช่นเดียวกัน
ด้านผลกระทบในทางอ้อมที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจมีทั้งฝั่งที่เกิดกับประชาชนและเกิดกับตลาดเงินตลาดทุน แต่ผลกระทบทั้ง 2 อย่างล้วนเกิดมาจากความกลัว ความกังวล และความไม่แน่ใจเป็นหลัก โดยเฉพาะในตลาดหุ้น ที่สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนตลอดช่วงเดือนมีนาคม ที่หุ้นทั่วโลกพาเหรดกันตกอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ตามข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ชี้ว่า กว่าร้อยละ 52.5 มองว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ในขั้นแย่
ในฝั่งของเศรษฐกิจโลกก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน ตามข้อมูลจาก 'ดีลอยต์ทูชโทมัตสุ' บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลก ชี้ว่า ประเทศจีนรับซื้อสินค้าในหมวดสารกึ่งตัวนำ (semiconductor) กว่าครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตรวมทั่วโลก และประเมินว่าการรับซื้อของจีนจะมีมูลค่าสูงถึง 7.5 ล้านล้านบาทในปีนี้ โดยแบ่งเป็นการนำเข้าในมูลค่า 6.1 ล้านล้านบาท
ดังนั้น เมื่อประเทศจีนจำเป็นต้องปิดเมือง รวมถึงปิดโรงงานการผลิตหลายแห่งทั่วประเทศ แปลว่าประเทศผู้ผลิตสารกึ่งตัวนำส่งออกมาขายให้จีนย่อมได้รับผลกระทบจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลด หรือการถูกยกเลิก เช่นเดียวกับบริษัทที่ไปตั้งโรงงานการผลิตในจีน ที่ต้องเผชิญหน้ากับความล่าช้า
ดังนั้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงดำเนินไปต่อเนื่องแบบไม่สามารถควบคุมได้ จะมีบริษัทที่เสี่ยงล้มละลายมากขึ้น ตลาดเงินตลาดทุนก็จะอ่อนกำลังลงเช่นเดียวกัน จนแม้แต่มาตรการทั้งฝั่งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังก็ไม่สามารถเข้ามาอุ้มเศรษฐกิจไหว เพราะทุกฝ่ายต่างจับจ้องไปที่การยุติการแพร่ระบาดครั้งนี้มากกว่ามาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล
หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนั้น ก็มีความเป็นไปได้สูงที่วิกฤตสุขภาพแห่งปี 2563 จะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิง; Reuters, CNBC, Forbes, Bloomberg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;