ไม่พบผลการค้นหา
9 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบัน มี 5 ตุลาการที่อยู่ในตำแหน่งถึง 11 ปีนับแต่รัฐธรรมนูญปี 2550 จนถึงฉบับปี 2560 ด้วยการต่ออายุจากคำสั่งหัวหน้า คสช. และบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ และในองค์คณะตุลาการชุดนี้มีคุณสมบัติที่จะต้องได้รับการตีความถึง 8 คนว่าจะได้ไปต่อหรือไม่

จากมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้วินิจฉัย สมาชิกภาพส.ส.ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือหุ้นสื่อ ตามมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) ของรัฐธรรมนูญ 2560 และมติ 8 ต่อ 1 ให้นายธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. ที่ผ่านมานั้นคือ คำวินิจฉัยที่น่าจะเป็นลำดับท้ายๆของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน

เนื่องจากบทเฉพาะกาลของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 80 กำหนดให้ กระบวนการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีเหตุต้องพ้นจากตำแหน่ง เริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรก ซึ่งคาดกันว่าจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า หลังทราบผลการเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะเป็นประธานรัฐสภา ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ 

‘วอยซ์ ออนไลน์’ จึงขอพาทบทวนที่มาที่ไปของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน โดยย้อนกลับไปยังปี 2557 ภายหลังคสช.ยึดอำนาจก็มีประกาศ คสช. ที่ 11/2557 ให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ 2557 (ฉบับชั่วคราว) 

กระทั่งก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 จะประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ก็มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 23/2560 ให้มีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพ้นจากการดำรงตำแหน่ง ออกมาในวันที่ 5 เม.ย. 2560

คล้อยหลังเพียงสองสัปดาห์ กลับมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 24/2560 ออกมายกเลิกคำสั่งสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุให้รอการจัดทำร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นก่อนค่อยดำเนินการสรรหา ในวันที่ 20 เม.ย. 2560 ทำให้มีข้อถกเถียงและการตั้งข้อสังเกตถึงคุณสมบัติของตุลาการชุดปัจจุบัน ที่คาบเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550 กับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาเป็นระยะ

ศาลรัฐธรรมนูญ ศาล __31244566.jpg

โดยเฉพาะประเด็นการเปรียบเทียบจากสัดส่วนที่มาและดีกรีที่ถูกเพิ่มให้เข้มข้นขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2561 ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี โดยกำหนดให้มี 5 ประเภท กับคุณวุฒิและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2550 โดยมีวาระ 9 ปี ดังนี้

1. จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 3 คน ซึ่งดำรงตำแหน่ง ไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาไม่น้อยกว่าสามปี

นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี เคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่ไม่เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

นายชัช ชลวร ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี เคยเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา แต่ไม่เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งทั้งสองไม่ถึง 3 ปี

2.ที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2 คน ซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี

นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมตุลาการศาลปกครอง ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี เคยเป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุดไม่ถึง 5 ปี

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากที่ประชุมตุลาการศาลปกครอง ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2557 รวม 5 ปี เคยเป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุดเกิน 5 ปี

3.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ 1 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่าห้าปี

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2551 รวม 11 ปี ได้เป็นศาสตราจารย์พิเศษ ทว่าไม่อาจเทียบเคียงศาสตราจารย์ ตามที่ศาลรัฐธรรมวางบัรรทัดฐานไว้เมื่อปี 2541

นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2556 รวม 6 ปี ได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อปี 2554 แต่ไม่ถึง 5 ปี

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการ ศาล

4.ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ 1 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งหรือเคยดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ไม่น้อยกว่าห้าปี

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2558 รวม 4 ปี เป็นศาสตราจารย์ไม่ถึง 5 ปี

นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2558 รวม 4 ปี เป็นศาสตราจารย์ไม่ถึง 5 ปี

5.ผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ 2 คน ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือเทียบเท่า หรือไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี 

ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง เนื่องจากเป็นสัดส่วนที่ถูกกำหนดขึ้นมาใหม่ 

จากข้อมูลดังกล่าวทำให้พบว่า หากวัดกันตามคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญ 2560 กับ ตุลาการชุดปัจจุบันนั้น จะมี 8 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เข้าข่ายคุณสมบัติไม่ครบตามรัฐธรรมนูญ แต่ได้รับการยกเว้นไว้ตามคำสั่งคสช. และบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 

ซึ่งครั้งที่ประชุม สนช.พิจารณาเคยให้คำอธิบายไว้ว่า การสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายใหม่นั้นควรมีขึ้นเมื่อมีสมาชิกรัฐสภาหลังการเลือกตั้ง เพื่อความสง่างาม มีเพียงนายวรวิทย์ เพียงคนเดียวเท่านั้นที่ดีกรีพร้อมตามกฎหมายใหม่

สำหรับขั้นตอนของการสรรหานั้น กรรมการองค์กรอิสระจะต้องส่งรายชื่อเพื่อเป็นคณะกรรมการสรรหา ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาภายใน 20 วัน นับจากประชุมรัฐสภาครั้งแรก จากนั้น คณะกรรมการสรรหาจะต้องเป็นผู้วินิจฉัยว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับการสรรหาหรือคัดเลือกในประเภทใด ตามมาตรา 8 (1)(2)และ(5) ภายใน 20 วัน ซึ่งก็น่าตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใดจึงให้คณะกรรมการสรรหาวินิฉัยเพียงสัดส่วนของศาลฎีกา ศาลปกครอง และผู้ทรงคุณวุฒิจากส่วนราชการ แต่ไม่รวมผู้ทรงคุณวุฒิจากรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ด้วย

จากนั้นจึงสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน รวมใช้เวลา 100 วัน ก็จะได้ศาลรัฐธรรมนูญชุดใหม่ ราวกลางเดือน ก.ย.นี้