ไม่พบผลการค้นหา
เปิดรายชื่อ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หลังเอกฉันท์รับคำร้องกรณีหุ้นไอทีวี 'พิธา' และมีมติ 7 ต่อ 2 สั่ง พิธา หยุดปฏิบัติ ส.ส. ในวันโหวตนายกรอบ 2

19 ก.ค. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (5) ประกอบมาตรา 44 (2) หรือไม่นั้น

ศาลรัฐธธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้อง ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54

สำหรับคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งให้ 'พิธา' หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฎเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

642817.jpg


ศาลรัฐธรรมนูญ คือหนึ่งในองค์กรอิสระที่มีบทบาทสำคัญในการตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัครพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง มีหน้าที่ชี้ขาดและตีความบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ โดยผู้ที่ทำหน้าที่สำคัญนี้ เรียกว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีทั้งหมด 9 คน

9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี โดยชุดปัจจุบันประกอบด้วย 

  1. วรวิทย์ กังศศิเทียม เข้ารับตำแหน่งวันที่ 9 กันยายน 2557 อดีตตุลาการศาลปกครองสูงสุด
  2. จิรนิติ หะวานนท์ เข้ารับตำแหน่งวันที่ 1 เมษายน 2563  อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา 
  3. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เข้ารับตำแหน่งวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558  อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. นภดล เทพพิทักษ์  เข้ารับตำแหน่งวันที่  1 เมษายน 2563 อดีตเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์ 
  5. บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ เข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 สิงหาคม 2563
  6. ปัญญา อุดชาชน เข้ารับตำแหน่งวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
  7. วิรุฬห์ แสงเทียน เข้ารับตำแหน่งวันที่  1 เมษายน 2563 อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา
  8. อุดม สิทธิวิรัชธรรม เข้ารับตำแหน่งวันที่   1 เมษายน 2563 อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา
  9. อุดม รัฐอมฤต เข้ารับตำแหน่งวันที่ 28 มกราคม 2566 อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. และอดีตกรรมการกฤษฎีกา
361903748_3539518292934725_3911642347843180724_n.jpg

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ หลายท่านมีส่วนร่วมในการวินิจฉัยคดีที่น่าสนใจในปี 2563 หลายคดี เช่น 

  • คดียุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิ์ทางการเมืองผู้บริหารพรรค 10 ปี กรณีกู้เงินธนาธร
  • คดีบ้านพักทหารพลเอกประยุทธ์ ทำให้พลเอกประยุทธ์รอดไม่สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี
  • คดี ส.ส. พรรคภูมิใจไทย เสียบบัตรแทนกันในการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563
  • คดีถือหุ้นสื่อ ส.ส. ฝ่ายค้าน 

ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 200 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 กำหนดว่า 

  • ตุลาการ 3 คน มาจาก ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 
  • ตุลาการ 2 คน มาจาก ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด 
  • ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ 
  • ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งสรรหาจากผู้ดํารงตําแหน่งศาสตราจารย์ มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ 
  • ตุลาการ 2 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยรับราชการตําแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า หรือตําแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด มาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

โดยตำแหน่ง ‘ผู้ทรงคุณวุฒิ’ จากสายวิชาการและสายข้ารายการ จะถูกคัดเลือกโดย คณะกรรมการสรรหาทั้งหมด 9 คน ได้แก่ ฝ่ายข้าราชการ 7 คน และองค์กรอิสระ องค์กรละ 1 คน 

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นจุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยังต้องผ่านการรับรองของ ส.ว. อีกด้วย โดยภายใต้เวลากว่า 5 ปีในยุคของ คสช. เมื่อไม่มี ส.ว. ในระบบการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นทหารมากกว่าครึ่ง และมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ทั้งหมดจึงทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบแทน

ที่มา: