ไม่พบผลการค้นหา
กรุงเทพมหานครนำรัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขสหรัฐฯ ตรวจเฝ้าระวังไข้หวัดนก ในตลาดค้าสัตว์ปีกคลองเตย

นายแพทย์พิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ Mr.Eric D. Hargan รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขและบริการสังคม ประเทศสหรัฐอเมริกา (Deputy Secretary, HHS Office of the Secretary) พร้อมนำตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการเฝ้าระวังไข้หวัดนกในตลาดค้าสัตว์ปีก คลองเตย โดยมีนายแพทย์วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย นายแพทย์สมชาย จึงมีโชค รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย นายสัตวแพทย์วีระชัย ศักดาจิวะเจริญ กลุ่มพัฒนางานระบาดวิทยาโรคสัตว์ติดคน สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย ผู้แทนจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) ร่วมต้อนรับ ณ ตลาดคลองเตย เขตคลองเตย

S__41107477.jpg

ทั้งนี้ สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ได้ดำเนินการสุ่มตรวจและเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในคอ (ช่องทางเดินหายใจ) ของสัตว์ปีกในตลาดค้าสัตว์ปีกคลองเตย เพื่อตรวจและเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก โดยเน้นไปที่สายพันธุ์ H7N9 และสายพันธุ์ H5N1 ตลอดจนสายพันธุ์อื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A เช่น โรคและการติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง เป็นต้น

S__41107475.jpg

โดยการเฝ้าระวังไข้หวัดนก นับเป็นสิ่งสำคัญในการตรวจสอบการไหลเวียนของไวรัสในสัตว์ปีก เพื่อป้องกันการติดเชื้อของสัตว์ปีกสู่มนุษย์ โดยการดำเนินการสุ่มตรวจอย่างรวดเร็วของโรคไข้หวัดนกในสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงสามารถช่วยปกป้องประเทศให้ปลอดภัยได้ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดสัตว์ปีก มีส่วนเกี่ยวข้องในการแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (H5N1) ไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสานพันธุ์ H7N9 ระบาดในประเทศจีนและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งระยะเวลาการบ่มเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 และ H7N9 โดยทั่วไปจะประมาณ 3-7 วัน แต่บ้างรายอาจใช้เวลานานถึง 10 วัน และสามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ภายใน 1 วัน ก่อนที่อาการของผู้ได้รับเชื้อจะกำเริบ

S__41107473.jpg

สำหรับโครงการสอดส่องดูแลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) มีการเฝ้าระวังสถานการณ์ไข้หวัดนกทั่วประเทศ รวมทั้งยังได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลกในการปรับปรุงและขยายเครือข่ายเฝ้าระวังเหตุการณ์ฯ ตามแหล่งใจกลางเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนมาก และหากไม่มีการสนับสนุนโครงการเฝ้าระวังและตรวจเชื้อโรคไข้หวัดนกอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต ยกตัวอย่างเหตุการณ์การระบาดของไข้หวัดนกในประเทศไทย ช่วงปี 2547 – 2551 ซึ่งประเทศไทยขณะนั้นยังไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับโรคไข้หวัดนก ทำให้การระบาดของโรคไข้หวัดนกในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตถึง 17 คน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :