ไม่พบผลการค้นหา
ประมุขลูกหนังยอมรับ การล็อคผลแข่งขันฟุตบอลไทย 'มีอยู่จริง' - ผู้บริหารบางสโมสรรู้เห็น และกำลังรวบรวมหลักฐาน เพื่อเร่งแก้ไขให้หมดไป

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กล่าวระหว่างร่วมงานแถลงข่าว "มีต เดอะ เพรส" ก่อนการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกนัดสุดท้ายของฤดูกาล ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ โดยงานแถลงข่าวมีขึ้นที่ ห้องประชุม 127 สนามราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (16 พ.ย.)

ประมุขลูกหนังไทยได้กล่าวขอบคุณสโมสรฟุตบอลต่างๆ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และพัฒนาการของนักเตะทีมชาติไทย อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า วงการฟุตบอลไทยยังมีอีกหลายเรื่องให้ต้องแก้ไข โดยเฉพาะปัญหาการล็อกผลการแข่งขัน

"เรื่องของการล็อคผลการแข่งขัน ผมได้บอกกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ตัดสิน หรือใครก็ตามที่อยู่ในวงการ ผมจะแก้ไขปัญหานี้ให้หมดสิ้น แต่มันก็ไม่ได้อยู่ที่ผมอย่างเดียว ทางสมาคมฯ ตั้งใจจะทำให้ปัญหานี้หมดไป แต่จะหมดหรือไม่มันขึ้นอยู่กับสามัญสำนึก ใครที่มีส่วนร่วม เราหาหลักฐานและนำไปสู่การดำเนินคดี โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นใครทั้งสิ้น" พล.ต.อ.สมยศ กล่าว

"การเข้ามาทำสโมสรฟุตบอล แต่ละทีมต่างมีเป้าหมายที่แตกต่าง บางคนเข้ามาเพื่อประโยชน์บางอย่าง บางคนไม่ได้รักกีฬาฟุตบอลจริงๆ บางทีมไม่มีที่มา ไม่มีแฟนบอลสนับสนุน หรือทำธุรกิจแบบไม่จริงจัง ผมไม่อยากเจาะลึกว่าแต่ละทีมมีเหตุผลอะไร บางทีมทำเพื่อรอการขายสโมสร พอขายไม่ได้ก็ต้องยุบทีม การเข้ามาทำทีมมีเหตุผลที่ต่างกัน ถ้าไม่ได้รักฟุตบอลจริงๆ ก็จะไม่เกิดความยั่งยืนจริงๆ ถ้าสโมสรที่มีความตั้งใจจริง เข้าใจกีฬาฟุตบอล และมีธุรกิจสนับสนุน สโมสรเหล่านั้นถึงจะอยู่ได้"

"เรื่องปัญหาของผู้ตัดสิน ผมว่าเราจะโทษที่ผู้ตัดสินอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องโทษคนที่เข้ามามีส่วนกำหนดผลการแข่งขัน เช่น คนที่ได้รับประโยชน์ ทั้งสโมสร และบุคคลภายนอก และใช้ผู้ตัดสิน ผู้ช่วยผู้ตัดสิน และนักกีฬาเป็นเครื่องมือในการกำหนดผลการแข่งขัน ยกตัวอย่าง นักพนัน นายทุน เป็นต้น ทั้งหมดทั้งสิ้นเหล่านี้คือที่มา"

thaileague 1.2.jpg

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง แถลงในงาน "มีต เดอะ เพรส" ไทยลีก

"การล็อคผลไม่ใช่เพิ่งมี แต่มีมายาวนาน ซึ่งวิธีทำได้ถูกเปลี่ยนแปลง พัฒนาไปตามสมัย ตามวิวัฒนาการของฟุตบอล ตั้งแต่ในระดับสมัครเล่น ในอดีตคือการช่วยเหลือพวกพ้อง แต่เมื่อมีวิวัฒนาการเป็นฟุตบอลอาชีพ ผลประโยชน์ที่ตามมาก็คือ ชื่อเสียงของสโมสร เงินสนับสนุน โอกาสที่จะได้ไปแข่งขันระดับนานาชาติ ทุกอย่างเป็นกระบวนการ" 

"ผู้มีอำนาจในการกำหนดจัดผู้ตัดสิน ก็จะใช้วิธีต่างๆ ทั้งการขู่เข็ญ แลกเปลี่ยน ในรูปแบบของผลประโยชน์ รวมถึงการเล่นพนัน เมื่อมันเข้ามาเกี่ยวข้อง มันก็เริ่มแทรกซึมเข้าไปในหมู่ผู้ตัดสิน รวมถึงนักกีฬา ทุกคนต่างทำเพื่อผลประโยชน์ บางครั้งผู้บริหารสโมสรไม่รู้ด้วยซ้ำ เพราะมันไม่ได้มีส่วนกับผู้บริหาร หรือ ผู้บริหารสโมสรบางสโมสรก็มีส่วนรู้เห็น ตรงนี้ผมยังไม่ขอลงรายละเอียด แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง สมาคมฯ ได้ดำเนินการแก้ไขเป็นเวลาตลอดปี และใช้เวลาค่อยๆ รวบรวมหลักฐาน ตอนนี้ก็เริ่มที่จะชัดเจน และผมขอยืนยันว่ามันมีอยู่จริง และเรากำลังแก้ไข" พล.ต.อ.สมยศ ร่ายยาว

สำหรับวิธีแก้ไขเบื้องต้น นายกลูกหนังบอกว่า มีการคัดเลือกผู้ตัดสิน และผู้ช่วยผู้ตัดสินชุดแรกรวม 40 คน ส่งไปอบรมที่ตุรกี 10-15 วัน และดันผู้ตัดสินหน้าใหม่จากไทยลีก 2 ขึ้นมาทำหน้าที่ในลีกสูงสุด

ส่วนการใช้เทคโนโลยีใหม่แบบในต่างประเทศอย่าง ภาพรีเพลย์ (VAR) และโกลไลน์ เพื่อช่วยให้การตัดสินแม่นยำมากขึ้น ยังคงติดปัญหาเรื่องงบประมาณที่สูงเกินไป แต่ประมุขลูกหนังไทยก็รับปากว่า จะพยายามหาทางทำให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต