ไม่พบผลการค้นหา
WWF ชี้ การผลิตสินค้าจำนวนมหาศาลเพื่อการบริโภคของมนุษย์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรสัตว์กว่าร้อยละ 60 สูญหายไปจากธรรมชาติ เป็นภัยคุกคามโลกอารยธรรม

นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ 59 คนจากทั่วโลก ร่วมเก็บข้อมูลและสรุปรายงานให้กับกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อปลายเดือน ต.ค. 2561 ระบุว่า นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 -2014 ที่ผ่านมา ประชากรสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังลดลงกว่าร้อยละ 60 รวมถึงกลุ่มประชากรสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปลา นก สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลานมากกว่า 4,000 สายพันธุ์ ต่างลดลงเป็นจำนวนมาก สืบเนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์ที่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทั้งในทุ่งหญ้า ป่าไม้และแหล่งน้ำต่างๆ

ที่ผ่านมา พฤติกรรมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการบริโภคของมนุษย์มีมากเกินกว่าความสามารถในการผลิตทรัพยากรขึ้นมาทดแทนของธรรมชาติ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลา 5 -7 ล้านปีในการฟื้นฟูสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรต่างๆ กลับคืนมา


"พวกเราเป็นคนรุ่นแรกที่ตระหนักว่า พวกเรากำลังทำลายโลกของเรา และเป็นรุ่นสุดท้ายที่จะช่วยรักษาธรรมชาติได้"


สาเหตุที่ทำให้ประชากรสัตว์ลดลงมากที่สุด คือ การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ ซึ่งล้วนเกิดจากการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ของมนุษย์เพื่อการทำไร่และสวน โดย 3 ใน 4 ของที่ดินทั่วโลกต่างถูกครอบครองโดยมนุษย์ทั้งสิ้น นอกจากนี้การล่าและฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหารก็เป็นสาเหตุรองลงมาที่ทำให้ประชากรสัตว์ลดลง ในรายงานยังระบุว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกว่า 300 สายพันธุ์ต่างถูกล่าเพื่อนำมาเป็นอาหาร และปลากว่าครึ่งในมหาสมุทรตกเป็นเหยื่ออุตสาหกรรมการประมงทั้งสิ้น

นอกจากนี้ มลพิษจากสารเคมีก็ยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักเช่นกัน โดยประชากรวาฬกว่าครึ่งเสียชีวิตจากมลพิษขยะพลาสติกที่ถูกปล่อยลงสู่ทะเล

ในรายงานระบุว่า ประชากรสัตว์ในภูมิภาคอเมริกาใต้และอเมริกากลางต่างลดลงกว่าร้อยละ 89 เมื่อเทียบกับสถิติที่เก็บรวบรวมเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เป็นผลจากการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากนี้ การทำลายทะเลสาบและแม่น้ำ ทั้งจากการทำแปลงเกษตรและการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างเป็นสาเหตุที่ทำลายระบบห่วงโซ่อาหารและทำให้ประชากรสัตว์ป่ากว่าร้อยละ 83 สูญหายไปเช่นกัน ถือเป็นภัยคุกคามโลกอารยธรรม

ทันย่า สตีล ประธานบริหารของ WWF กล่าวว่า "พวกเราเป็นคนรุ่นแรกที่ตระหนักว่า พวกเรากำลังทำลายโลกของเรา และเป็นรุ่นสุดท้ายที่จะช่วยรักษาธรรมชาติได้ การสูญพันธุ์ของประชากรสัตว์ป่า เป็นสัญญาณเตือนให้เรารับรู้ว่า ธรรมชาติกำลังจะตาย"

ที่มา telegraph / the guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง