ไม่พบผลการค้นหา
นพ.ธีระเกียรติ รมว.ศึกษาฯ นั่งประธานสืบคดีโมเน็ตของกระทรวงศึกษาธิการเอง ชี้มีหลายคำถามที่กรรมการสืบข้อเท็จจริงตอบไม่ตรงประเด็น พร้อมระบุมีหลักฐานสำคัญ ย้ำต้องดำเนินการทางกฎหมายถึงที่สุด

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตามที่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงกระบวนการเช่าสัญญาณอินเทอร์ของระบบโมเน็ต(MOENet ) ที่มีนายสมศักดิ์ มิตะถา ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษาหรือยูนิเน็ต (UniNet) ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นประธานนั้น ขณะนี้ตนดึงการสืบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวมาดูเองแล้ว เพราะตนมีคำถามทางเทคนิค ซึ่งบุคคลที่แต่งตั้งให้ไปดำเนินการสืบข้อเท็จจริงยังไม่สามารถตอบได้ตรงประเด็น

โดยจะนำเรื่องนี้กลับมาให้ทีมกฎหมายดูทั้งหมด และเป็นประธานคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงเรื่องความไม่ชอบมาพากลของการเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตของระบบโมเน็ตเอง

ทั้งนี้ หากพบบุคคลใดที่เข้าข่ายทุจริตและยังอยู่ในวงราชการก็จะตั้งคณะกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรง

นพ.ธีระเกียรติ เปิดเผยว่า ตอนนี้มีหลักฐานที่คิดว่าแน่ชัด คือ มีการเสนอเงินเพื่อจ่ายให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในการต่อสัญญาเช่าสัญญาณระบบโมเน็ตทุกครั้ง จึงเท่ากับว่าข้อมูลที่ตนเห็นนั้นนำไปสู่การทุจริตหรือไม่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบต่อไป

ขณะเดียวกัน สิ่งที่กรรมการสืบยังไม่สามารถตอบได้คือ การอ้างว่าเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตระบบโมเน็ตเป็นมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ใช้สัญญาณจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) แต่ทำไมถึงมีการซื้อรับบริการจากบริษัทเอกชนอยู่โดยมีบริษัทแห่งหนึ่งที่ส่งหนังสือมาทวงเงินค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ตโครงข่ายโมเน็ตจำนวน 60 ล้านบาทแต่ ปลัดกระทรวงฯ ไม่จ่ายเนื่องจากไม่มีสัญญาเช่าซื้อ ซึ่งตนจะไม่ปล่อยเรื่องนี้ไว้แน่ เพราะเห็นว่ารัฐเสียหายมาก

ทั้งนี้ ระบบโครงข่ายอินเตอร์เน็ตกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOENet เริ่มต้นมาต้ังแต่ปี 2538 ซึ่งในปี 2545 กระทรวงศึกษาธิการซื้อบริการระบบอินเทอร์เน็ตจากรัฐวิสาหกิจ คือ บมจ.ทีโอที แล้ว นำมาให้บริการแก่โรงเรียนในสังกัด แม้ที่ผ่านมาจะมีการเพิ่มความเร็ว และปรับปรุงเครือข่ายอยู่เรื่อยๆ แต่โรงเรียนก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างมีคุณภาพเท่าที่ควร ปล่อยสัญญาณแบบกะปริบกะปรอย และราคาสูง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายในแต่ละปี โดยใช้งบประมาณรวม 3,000 ล้านบาทต่อปี สำหรับโรงเรียนสังกัด สพฐ. 2,000 ล้านบาท และสํานักงานปลัดอีก 1,000 ล้านบาท จึงทำให้โรงเรียนหลายแห่ง จำเป็นต้องเช่าซื้อระบบอินเทอร์เน็ตเพิ่มเพื่อแก้ปัญหา โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนบางแห่งก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า MOENet คืออะไร

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2560 นพ.ธีระเกียรติ ได้สั่งยกเลิกโครงข่าย MOENet เนื่องจากพบว่ามีความไม่ชอบมาพากลในเรื่องค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตแต่ละเดือนของสถานศึกษา เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศจ.) ต้องจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตให้ Moenet ศูนย์การเรียนรู้ แพงกว่าราคาให้บริการของเอกชนทั่วไป แถมเมื่อเรียกดูเอกสารสัญญาต่างๆ ก็ไม่ปรากฎข้อมูลให้ตรวจสอบด้วย ขณะที่จากการสอบถามข้อมูลจากทางโรงเรียนบางแห่ง ก็พบว่าใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตจากเอกชนมาใช้งานโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง และต่อมาได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา

ข่าวเกี่ยวข้อง :

'รจนา' ยังไม่เข้าให้ข้อมูลทุจริตกองทุนเสมาฯ