"มีสิ่งที่น่าสนใจของคนทำงานที่นั่น ที่ไม่ถามอะไรที่มันปวดหัว เกษตรกรเขาไม่มีเงิน จน เขาก็ไม่ถามว่าต้องการอะไร เขายอมให้เด็ก นี่คือเรื่องจริง แล้วเขาไม่ได้เงิน เขาก็ไม่ว่าอะไร"
เป็นคำกล่าวของ พล.อ อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงน้ำใจของเกษตรกรในมุมของผู้เสียสละ หลังนักข่าวถามถึงการประเมินผลกระทบในพื้นที่รับน้ำจากการระบายน้ำออกจากวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อช่วยเหลือหมูป่าทั้ง 13 ชีวิต
มาตรการเยียวยาเบื้องต้นสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ยึดหลักตามระเบียบกระทรวงการคลังเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ซึ่งต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร กับกรมส่งเสริมการเกษตร และต้องผ่านการตรวจสอบภายหลังน้ำลด 10 วัน ว่าที่ดินได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายถึงน้ำต้องท่วมถึงระดับมิดยอดข้าวจนไม่สามารถเติบโตได้อีก
พื้นที่ 7 หมู่บ้าน 4 ตำบล รวม 1,397 ไร่ ของเกษตรกร 101 ราย หรืออาจถึง 126 รายตามความเสียหายจริง จะได้รับเงินเยียวยาเป็นจำนวน 1,113 บาทต่อไร่ กำหนดรายละไม่เกิน 30 ไร่ หากเกษตรกรยื่นความจำนงให้สำนักงานเกษตรอำเภอแม่สายจัดทีมสำรวจความเสียหายจริง เพื่อขอรับเงินชดเชยต่อไปในเร็ววันนี้
ในทั้งหมดของเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ มีเกษตรกร 19 รายไม่ขอรับเงินเยียวยา เป็นปรากฏการณ์ที่ได้รับเสียงชื่นชมจากสังคม และไปกันได้กับ 'สิ่งที่น่าสนใจ' ที่ พล.อ อนุพงษ์ เผ่าจินดา พูดถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้ยินดีที่จะเสียสละ แต่เกษตรกรบางรายที่วอยซ์ออนไลน์ได้พูดคุยด้วยก็มีความหวังอยู่เล็กๆ ว่าอาจจะได้รับการเยียวยาบ้าง
นายถนอม ติป้อ อายุ 54 ปี เกษตรกรหมู่ 5 บ้านสันปูเลย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เปิดใจกับเราถึงความเสียหายราว 30 ไร่ในที่นาของเขา ซึ่งไม่เคยน้ำท่วมมาก่อน
"ต้นทุนต่อไร่ก็ประมาณ 3,000-4,000 บาท เงินเยียวยาที่ได้จะให้คุ้ม มันก็ไม่คุ้ม แต่ถ้าได้มาสักนิด มันก็ยังดี เราก็ดีใจอยู่แล้วแค่ได้ช่วยเหลือน้องๆ ออกมาทั้ง 13 ชีวิต จะให้เรียกร้องอะไรกันนักกันหนาอีก"
เมื่อถามถึงการยื่นความจำนงขอความช่วยเหลือเพียงจำนวน 10 ไร่ จากพื้นที่ความเสียหาย 30 ไร่ให้สำนักงานเกษตรอำเภอเข้าตรวจสอบ นายถนอม กล่าวว่า
"อยากให้มาดู แต่จะให้หรือไม่ก็แล้วแต่ เขาพูดอย่างเดียวว่าต้องเป็นไปตามระเบียบ ก็ขอให้เขายึดระเบียบไว้ให้นานแสนนาน ส่วนเราแค่เด็กๆ รอดออกมา เราก็ดีใจแล้ว เขาจะช่วยเหลือหรือไม่ก็แล้วแต่"
ความคืบหน้าล่าสุดในการช่วยเหลือเยียวยา มีตั้งแต่การมอบเมล็ดพันธุ์ข้าว 14 ตัน และปัจจัยการผลิตอื่นๆ โดยกระทรวงเกษตรฯ รวมถึงฟื้นฟูอาชีพเมื่อถึงเวลาที่น้ำลดจนสามารถเพาะปลูกได้ ไปจนถึงการมอบทุนการศึกษาให้บุตรของเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวได้เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยไม่มีข้อผูกมัด ขณะที่การประเมินความเสียหายจริงกำลังดำเนินไปเพื่อการให้เงินชดเชยอย่างเร็วที่สุด
แต่ไม่ว่าการการเสียสละจะได้รับการเยียวยาอย่างคุ้มค่าหรือไม่ แต่การได้ทีมหมูป่าที่รอดชีวิตกลับมาด้วยการเสียสละของหลายฝ่าย ก็อาจจะเป็น 'สิ่งที่น่าสนใจ' อย่างแท้จริงมากกว่าคำอธิบายว่า "เขาไม่ได้เงิน เขาก็ไม่ว่าอะไร"