พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเนื่องในโอกาสลงพื้นติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด ณ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ว่า การพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร การผลักดันน้ำเค็ม และบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ในเขต จ.จันทบุรี รวมทั้งช่วยเสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC )
ทั้งนี้ ตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดให้เต็มศักยภาพนั้น จะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำจำนวน 4 แห่ง สามารถเก็บกักน้ำต้นทุนรวมกันได้ 308.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 249,700 ไร่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 3 แห่ง คือ 1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีความจุในระดับกักเก็บ 60.26 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันการก่อสร้างมีความก้าวหน้าร้อยละ 99.71 เริ่มเก็บกักน้ำแล้ว จะแล้วเสร็จภายในปี 2561 นี้อย่างแน่นอน 2.อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ต.ขุนช่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีความจุในระดับกักเก็บ 80.70 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันการก่อสร้างมีความก้าวหน้าร้อยละ 23.00 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 นี้ และ 3.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ บ้านบ่อชะอม ต.พวา อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีความจุในระดับกักเก็บ 68.10 ล้าน ลบ.ม.
ขณะนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนหัวงาน และเขื่อนปิดช่องเขา มีความก้าวหน้าร้อยละ 44.70 คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนภายในปี 2563 ส่วนอีก 1 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด บ้านวังสัมพันธ์ ต.ขุนช่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เป็นอ่างเก็บน้ำที่มีความจุมากที่สุดในจำนวน 4 แห่งดังกล่าว คือ 99.50 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 6 ปี
"หากการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง พร้อมฝายคลองวังโตนดตามแผนการพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนดแล้วเสร็จ จะทำให้ลุ่มน้ำคลองวังโตนดเป็นลุ่มน้ำตัวอย่างอีกลุ่มน้ำหนึ่ง ที่สามารถบริหารจัดการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง และผลักดันน้ำเค็ม ได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้ทั่วทั้งลุ่มน้ำ เสริมความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับลุ่มน้ำคลองวังโตนด ซึ่งเป็นแหล่งปลูกผลไม้ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ไม่ว่า ทุเรียน ลำไย มังคุด เงาะ กล้วยไข่ สร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้สามารถผันน้ำส่วนเกินที่ส่งไปช่วยเสริมความมั่นคงให้กับพื้นที่ EEC ได้อีกถึงปีละประมาณ 100 ล้านลบ.ม." รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
สทนช.วางแผนบริหารน้ำ รับ EEC
ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้วางแผนในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ สนับสนุน EEC ซึ่งมีครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อรองรับใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี เนื่องจากมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคการท่องเที่ยว โดยในระยะแรก (10 ปี) ได้วางเป้าหมายที่จะจัดหาแหล่งน้ำและจัดสรรนํ้าเพื่อการอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม ให้สมดุลกับภาคการเกษตรที่จะเจริญเติบโตควบคู่ไปด้วยกันทั้งใน ปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการป้องกันนํ้าท่วมในพื้นที่สําคัญของ EEC ด้วย โดยมีแนวทางในการพัฒนา ดังนี้
1.ปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีศักยภาพ 7 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำมาบประชัน อ่างเก็บน้ำบ้านบึง อ่างเก็บน้ำคลองหลวง และ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด รวมแล้วสามารถเก็บกักนํ้าได้เพิ่มอีก 102 ล้าน ลบ.ม. จากความจุเดิม 770 ล้าน ลบ.ม.
2.พัฒนาอ่างเก็บนํ้าแห่งใหม่ ในลุ่มนํ้าคลองวังโตนด จ.จันทบุรี จำนวน 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองประแกด อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว และ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด โดยจะส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในลุ่มนํ้าวังโตนด 170 ล้าน ลบ.ม./ปี และสามารถบริหารจัดการนํ้าเพื่อผันนํ้า ส่วนเกินในฤดูฝนด้วยระบบท่อ คลองวังโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อส่งน้ำให้พื้นที่ EEC ได้ 100 ล้าน ลบ.ม./ปี
3.เชื่อมโยงแหล่งนํ้าและระบบผันนํ้า ในระยะ 5 ปี จะทําการเชื่อมโยงแหล่งน้ำและผันนํ้าภายในประเทศให้เต็ม ศักยภาพ โดยการปรับปรุงคลองพานทองให้สามารถผันมาเติมอ่างเก็บน้ำบางพระให้ได้อีก 20 ล้าน ลบ.ม. จากปัจจุบันที่ผันได้ปีละ 30 ล้าน ลบ.ม. และพัฒนาท่อผันนํ้า อ่างเก็บน้ำประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองค้อ-อ่างเก็บน้ำบางพระ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายเพิ่มเติมเพื่อการบริหารจัดการและรองรับนํ้าต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นจากการผันมาจากลุ่มนน้ำคลองวังโตนด
4.สูบกลับน้ำท้ายอ่างเก็บนํ้า เป็นการบริหารจัดการปริมาณนํ้าท้ายอ่างเก็บนํ้าให้สามารถมีนํ้าใช้การได้เพิ่มขึ้นโดยมีแผนงานสูบนํ้าจากคลองสะพานไปอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้น้ำ 50 ล้าน ลบ.ม./ปี และ ปรับปรุงระบบสูบน้ำกลับท้ายอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหลได้นํ้า 5 ล้าน ลบ.ม./ปี
5.การป้องกันนํ้าท่วม มีแผนการป้องกันน้ำท่วมเมืองระยอง โดยการก่อสร้างสถานีสูบและท่อระบายนํ้าหลาก จากคลองทับมาสู่ทะเลเพื่อลดปริมาณน้ำหลากที่เกิดจากคลองทับมา และแผนงานป้องกันน้ำท่วมพื้นที่อุตสาหกรรม อ.พนัสนิคม และอ.พานทอง จ.ชลบุรี โดยการปรับปรุงคลอง ก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อ บรรเทานํ้าท่วมพื้นที่ชุมชนและอุตสาหกรรม และ6.แหล่งน้ำสํารองภาคเอกชน บริษัท East Water มีแผนดําเนินการจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมโดยการพัฒนาบ่อดินในพื้นที่เอกชน และการขุดสระทับมา มีความจุรวม 77 ล้าน ลบ.ม.
"ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่จะทำให้แผนพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุน EEC นั้น เราดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่เน้นโครงการที่ทำได้ก่อน ทำทันที ทำให้การเก็บกักน้ำบางส่วนเพิ่มขึ้น โดยการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง รวมไปถึงการหารือร่วมระหว่าง 2 กระทรวง จึงทำให้มีการเร่งรัดการขอใช้พื้นที่ป่าไม้ สำหรับโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญ ๆ ที่อยู่ในแผน" เลขาธิการ สทนช. กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดสรรน้ำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน ต้องมีความชัดเจนถึง ปริมาณ ช่วงเวลา และสถานที่ที่จัดสรรน้ำให้ และต้องมีการจัดทำข้อตกลง กฎ กติกา การใช้น้ำร่วมกันผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วม
เตรียมน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำทะเล จัดหาน้ำต้นทุน 220 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี รับ EEC
สำหรับแนวทางดําเนินการเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำในระยะยาวของพื้นที่ EEC ซึ่งจําเป็นต้องจัดหาปริมาณนํ้าต้นทุนเพิ่มอีกประมาณ 220 ล้านลบ.ม.ต่อปีนั้น สทนช. ให้ความสำคัญในการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดหาน้ำต้นทุนในทุกรูปแบบทั้งน้ำผิวดิน น้ำบาดาล น้ำทะเล รวมถึงการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และความเหมาะสมในทุกมิติ และต้องสอดคล้องกับความต้องการในปัจจุบันและในอนาคตด้วย โดยปัจจุบัน สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนต่อไป