ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรปกป้องสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดการประชุมใหญ่ประจำปี พร้อมเลือกคณะกรรมการชุดใหม่ โดย 'เนติวิทย์' นักกิจกรรมและนิสิตจุฬาฯ ได้รับเลือกเป็น 'กรรมการเยาวชน'

ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2561 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ พร้อมประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการผ่านเฟซบุ๊กเพจขององค์กร วันนี้ (10 มิ.ย.) และมีการติดแฮชแท็กด้วยว่า #แอมเนสตี้ไม่เลื่อน #เลือกตั้ง #AGM18

ผู้ได้รับเลือกเป็นคณะกรรมการชุดใหม่ของแอมเนสตี้ฯ ในปีนี้ ประกอบด้วย พริษฐ์ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ รับตำแหน่งกรรมการ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล กรรมการเยาวชน, กรกนก คำตา กรรมการ, ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ประธานกรรมการ, เอกชัย ปิ่นแก้ว รับตำแหน่ง เหรัญญิก และอภิชาต พงษ์สวัสดิ์ กรรมการ

ขณะเดียวกัน เนติวิทย์ อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักกิจกรรมทางสังคมที่ได้รับเลือกไปเข้าร่วมการประชุม Oslo Freedom Forum ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา เผยแพร่ข้อมูลการได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการเยาวชนของแอมเนสตี้ฯ ผ่านทางเฟซบุ๊กของตัวเองเช่นกัน

ข้อความในเฟซบุ๊กของเนติวิทย์ ระบุว่า วันนี้ ตนได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ประจำปี ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand) ให้เป็นกรรมการเยาวชน (Youth Board Member) ในบอร์ดบริหารขององค์กร รู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้ร่วมงานในองค์กรพิทักษ์สิทธิมนุษยชนที่มีผู้สนับสนุนทั่วโลกกว่า 7 ล้านคนและมีประวัติศาสตร์อันทรงเกียรติเพื่อเพื่อนมนุษย์กว่าห้าสิบปี


"ภารกิจต่อไปคงจะมากมาย แต่ผมจะผลักดันความสำคัญของสิทธิมนุษยชนของเยาวชน ซึ่งถูกละเลยจากโรงเรียน และระบบการศึกษาไทย เราต้องคืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้กลับมาในโรงเรียน นี่คือเรื่องพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์ ขณะเดียวกัน การต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่ถูกรัฐบาลทหารปิดปากมากว่าสี่ปีแล้ว" เนติวิทย์ระบุ


ข้อความในเฟซบุ๊กของเนติวิทย์ยังกล่าวด้วยว่า ไม่รู้จะเป็นอย่างไรต่อ และรู้ว่าไม่ง่าย ต้องร่วมมือกันถึงจะสำเร็จ แต่อย่าฝากมาที่คนคนเดียว เพราะทุกคนสามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมไทยและเพื่อนมนุษย์ได้

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นเครือข่ายขององค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนับสนุนมากกว่า 7 ล้านคนใน 150 ประเทศและดินแดนทั่วโลก เริ่มดำเนินงานในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2538 และจดทะเบียนองค์กรเป็น 'สมาคมเพื่อองค์การนิรโทษกรรมสากล' เมื่อปี 2546 ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย” เมื่อปี 2555

การทำงานส่วนใหญ่เป็นการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยประสานความร่วมมือกับองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนองค์กรอิสระต่างๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: