ไม่พบผลการค้นหา
สนช.มีมติให้ 9 กรรมการ ป.ป.ช. อยู่จนครบวาระ ตัดมาตราถ่วงดุลอำนาจโดย สตง. ให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบกันเอง

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ด้วยคะแนน 197 ต่อ 1 หลังจากอภิปรายต่อเนื่อง 3 วัน โดยมาตราที่หลายฝ่ายจับตามอง และมีสมาชิก สนช. อภิปรายกันจำนวนมาก

มาตรา 37/1 เรื่องวิธีสืบสวนแบบพิเศษ โดยการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือดักฟัง ประธานกรรมาธิการ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ขอถอนมาตราดังกล่าว เนื่องจากมีการอภิปรายถึงการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการสื่อสาร ตามมาตรา 36 ในรัฐธรรนมูญ ซึ่งมาตรานี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของ สมาชิกสนช. และถูกตัดทิ้งจากกฏหมาย

แต่มาตราที่ผ่านฉลุย คือ มาตรา 178 ในบทเฉพาะกาล สนช.มีมติ 157 เสียงเห็นชอบตามกรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างมากที่ให้ กรรมการ ป.ป.ช. ดำรงตำแหน่งต่ออีก 7 ปี จนครบวาระ 9 ปี

ทั้งนี้ มาตรา 178 ในบทฉพาะกาล ถือเป็นข้อกฏหมายที่ยกเว้นให้ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คนอยู่ต่อจนครบวาระ เพราะหากพิจารณากันตามร่างกฎหมายแล้ว ป.ป.ช.ที่มีคุณสมบัติเทพ ตามรัฐธรรมนูญ จะเหลือเพียงแค่ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ซึ่งกรรมาธิการเสียงข้างมาก กำหนดให้มีการยกเว้นคุณสมบัติตามมาตรา 9

แต่หากพิจารณาตามลักษณะต้องห้าม จะมีกรรมการ ป.ป.ช. 2 คนที่ต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างแน่นอนคือ หนึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี)

โดยตำแหน่งนี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ระบุว่า เป็นข้าราชการทางการเมือง มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ดังนั้น ในเมื่อเป็นข้าราชการทางการเมืองแล้ว ก็อาจขัดต่อคุณสมบัติมาตรา 202 (4) ที่ห้ามดำรงตำแหน่งดังกล่าวในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกสรรหา ดังนั้นจึงอาจ ‘หลุด’ จากการเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. ได้

และสอง นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 202 (1) ที่เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในองค์กรอิสระใด

นอกจากนี้หากนับเฉพาะช่วงที่นายวิทยา ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ยังไม่ถือว่ามีตำแหน่งเป็นระดับผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ (ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในสำนักงาน ป.ป.ช. คือ เลขาธิการฯ) ดังนั้นจึงอาจสุ่มเสี่ยงพ้นจากตำแหน่งได้

อย่างไรก็ตาม กฏหมาย ป.ป.ช. ได้ยกเว้นในมาตรา 178 จึงถือว่าเป็นการออกกฎหมายยกเว้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 202 เพื่อยกเว้นให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง โดยกรรมาธิการเสียงข้างมาก เช่น นายกล้านรงค์ จักทิก และนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง ให้เหตุผล เรื่องความต่อเนื่องในการปราบปรามการทุจริตในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของประเทศ

ส่วน มาตรา 150 และ 151 ที่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้รับการกล่าวถึงมากนัก แต่ถือเป็นหัวใจของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการถ่วงดุลอำนาจโดยให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหากพบความร่ำรวยผิดปกติ ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ แต่ สนช. มีมติ 190 เสียงเห็นตามกรรมาธิการเสียงข้างมากให้แก้ไข โดยให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบตัวเอง และหากพบความผิดปกติให้ตั้งกรรมการสอบภายใน

อย่างไรก็ตามกฏหมาย ป.ป.ช. ถือเป็นองค์กรอิสระสุดท้าย ที่ผ่านร่างกฎหมายในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยก่อนหน้านี้ สนช. มีมติให้เซ็ตซีโร่ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากกฎหมายใหม่ เพิ่มจำนวนจาก 5 คนเป็น 7 คน และกำหนดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และมีมติเซ็ตซีโร่ กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เนื่องจากคุณสมบัติไม่ครบตามกฎปารีส

 ส่วนกรรมการองค์กรอิสระที่ได้อยู่ครบวาระ ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เนื่องจากกฎหมายได้ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินน้อยลง คณะกรรมการชุดนี้ได้รับการยอมรับจากต่างชาติ และได้รับการแต่งตั้งมาตามรัฐธรรมนูญ 2550, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่ต้องการแทรกแซงอำนาจฝ่ายตุลาการ, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เนื่องจา��เพิ่งสรรหากรรมการชุดใหม่ แทนกรรมการชุดเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง