คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เผยแพร่ผลสรุปการประชุมคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียู ว่าด้วยสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2560 ในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม โดยที่ประชุมมีมติให้พิจารณาปรับความสัมพันธ์ด้านการเมืองกับประเทศไทยให้กลับสู่ภาวะปกติ หลังจากที่อียูประกาศลดระดับความสัมพันธ์กับไทยตั้งแต่มีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 เป็นต้นมา โดยมติของที่ประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้อียูเจรจากับไทยในประเด็นที่สำคัญร่วมกันได้ต่อไปในอนาคต โดยอียูจะสามารถดำเนินการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึงประชาธิปไตย และอียูจะใช้การเจรจาเพื่อหยิบยกประเด็นข้อกังวลเหล่านี้กับไทยอย่างเต็มที่
เนื้อหาในผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีอียูระบุด้วยว่า อียูเล็งเห็นคุณค่าของไทยในฐานะผู้ประสานการเจรจาและสนับสนุนการขยายความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศอียู-อาเซียน (EU-ASEAN Dialogue Relations) และผู้แทนของรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นว่าจะทำตามข้อเสนอแนะของนานาประเทศในระหว่างการทบทวนรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไก UPR (Universal Periodic Review) ครั้งที่สองของประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 คณะรัฐมนตรีฯ จึงขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปสำรวจความเป็นไปได้ที่จะกลับมาเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างยุโรป-ไทย (EU-Thailand Free Trade Agreement)
อย่างไรก็ตาม การลงนามในกรอบข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ(Partnership and Cooperation Agreement - PCA ) และการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอียูกับประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้กับเฉพาะรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อียูจะพิจารณาทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทยโดยให้ความสำคัญกับประเด็นเสรีภาพ โดยจะต้องยกเลิกข้อจำกัดเสรีภาพด้านต่างๆ ทั้งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการชุมนุมและการรวมกลุ่มเพื่อแสดงออก และการยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองและองค์กรภาคประชาสังคม โดยไทยจะต้องเคารพและสนับสนุนการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกกลุ่ม เนื่องจากอียูยังกังวลว่าสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง และเสรีภาพ ถูกลิดรอนไปอย่างรุนแรงในประเทศไทยหลังจากการรัฐประหาร
อียูระบุว่าเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมในไทยยังถูกจำกัดผ่านทางกฎหมายและคำสั่งหลายฉบับของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังถูกคุกคามทางกฎหมาย ซึ่งเสรีภาพขั้นพื้นฐานดังกล่าวจะต้องได้รับการฟื้นฟูในขณะที่ไทยดำเนินการไปสู่ประชาธิปไตย และอียูจะยังคงสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทยต่อไป รวมถึงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจของไทยไม่ดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร ซึ่งรวมถึงความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 12 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ คสช.จะมีประกาศลดการดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหารลง
นอกจากนี้ อียูยังได้อ้างถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นภายใน 150 วันหลังจากมีการประกาศใช้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็นสี่ฉบับ แต่ขณะนี้อียูจะยอมรับแถลงการณ์ของหัวหน้า คสช. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และอียูขอเรียกร้องให้ไทยประกาศใช้กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เหลืออยู่อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้เคารพกำหนดการการจัดการเลือกตั้งตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ
ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปและคณะกรรมาธิการยุโรปจะเป็นผู้ติดตามสังเกตการณ์และแจ้งให้คณะรัฐมนตรีฯ ทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าที่จะเกิดขึ้น และคาดหวังว่าไทยจะจัดการเลือกตั้งที่น่าเชื่อถือและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย สอดคล้องกับมาตรฐานสากลซึ่งนำไปสู่สถาบันทางประชาธิปไตยที่ทำงานได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ