ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลเกาหลีใต้ออกกฎหมายใหม่ ปรับลดเวลาทำงานเจ้าหน้าที่รัฐ-พนักงานบริษัทต่างๆ จากสัปดาห์ละ 68 ชั่วโมง เหลือ 52 ชั่วโมง หนุน 'สิทธิที่จะพัก' หวังพัฒนาคุณภาพชีวิต-มีเวลาให้ครอบครัว

กฎหมายแรงงานฉบับแก้ไขของเกาหลีใต้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า หน่วยงานรัฐบาลและบริษัทที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป ต้องปรับลดเวลาการทำงานต่อสัปดาห์จากเดิม 68 ชั่วโมง เหลือเพียง 52 ชั่วโมง โดยแบ่งเป็นเวลาทำงานปกติ 40 ชั่วโมง และทำงานล่วงเวลาได้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง หากบริษัทหรือนายจ้างฝ่าฝืนกฎดังกล่าวจะถูกปรับเงิน 20 ล้านวอน (ประมาณ 5.9 ล้านบาท) และติดคุก 2 ปี

วอชิงตันโพสต์รายงานอ้างอิงคำแถลงของมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อเดือน ม.ค. ซึ่งระบุว่า การทำงานหนักเกินกว่าเหตุจะต้องหมดไปจากเกาหลีใต้ พร้อมย้ำว่า ประชาชนจะต้องเข้าถึง 'สิทธิที่จะพัก' เพราะคุณภาพชีวิตที่ดีไม่อาจเกิดขึ้นได้หากต้องทุ่มเททำงานจนไม่มีเวลาให้กับครอบครัวหรือมีชีวิตส่วนตัวด้านอื่นๆ

เป้าหมายอีกอย่างหนึ่งที่รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามส่งเสริมให้คนวัยทำงานมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น เป็นผลจากที่เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดต่ำ และกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย หากไม่มีการเพิ่มจำนวนประชากรจะทำให้เกาหลีใต้ประสบภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่องในอนาคต จึงจำเป็นต้องกระตุ้นให้คนวัยทำงานมีบุตรกันเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สภาพการทำงานในบริษัทและหน่วยงานรัฐต่างๆ ของเกาหลีใต้มีความตึงเครียดสูง เห็นได้จากภาพสะท้อนในละครซีรีส์ดัง 'มีแซง' (Misaeng) ซึ่งออกฉายในเกาหลีใต้เมื่อปี 2557 ได้รับคำชมเชยจากผู้ชมภายในประเทศ ที่ระบุว่าเหตุการณ์ในละครคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมเกาหลีใต้ เพราะมีทั้งการทำงานหนักอย่างหามรุ่งหามค่ำ การกลั่นแกล้งเพื่อนร่วมงาน การกดขี่และจู้จี้จุกจิกเกินความจำเป็นของหัวหน้างาน การละเมิดและการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

ทำงาน

อย่างไรก็ตาม กฎข้อบังคับใหม่เรื่องการลดเวลาทำงานต่อสัปดาห์ อาจจะยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง โดยสำนักข่าวยอนฮัปของเกาหลีใต้ รายงานอ้างอิงข้อมูลสถิติของกระทรวงแรงงาน พบว่า ปัจจุบันมี 3,627 บริษัททั่วประเทศที่จ้างพนักงานเกิน 300 คน และบริษัทเหล่านี้ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันที รัฐบาลจึงต้องบังคับใช้มาตรการผ่อนผันเป็นเวลานาน 6 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้แต่ละบริษัทค่อยๆ ปรับตัวและแก้ไขนโยบาย

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง คือ กลุ่มพนักงานที่ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงานล่วงเวลา กลุ่มคนเหล่านี้อาจต้องหางานพิเศษทำเพื่อจะได้ชดเชยกับรายได้ที่หายไปเมื่อถูกลดชั่วโมงการทำงาน และจะทำให้พนักงานหรือคนวัยทำงานไม่ได้ใช้เวลาไปกับครอบครัวอยู่ดี

ด้านนักวิเคราะห์เตือนว่าการลดเวลาทำงานต่อสัปดาห์จะส่งผลกระทบต่อบริษัทขนาดย่อยและขนาดเล็ก อาจหาคนมาทำงานในตำแหน่งที่ต้องการได้ยากขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ต้องการมาตรฐานแบบบริษัทขนาดใหญ่ และรัฐบาลยังตั้งเป้าด้วยว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎเดียวกันให้ได้ภายใน พ.ศ. 2563 และ 2564 ตามลำดับ

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) สำรวจข้อมูลการทำงานของประชากรกลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่าพนักงานในแต่ละประเทศทำงานรวมกันเป็น 2,024 ชั่วโมงต่อปีโดยเฉลี่ย ถือเป็นกลุ่มประเทศที่ประชากรทำงานหนักเป็นอันดับ 3 เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกโออีซีดีอื่นๆ

ที่มา: Independent/ Washington Post/ Yonhap

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: