คำสั่งห้ามโรงเรียนประถมทั่วประเทศสอนวิชาภาษาอังกฤษแก่นักเรียนชั้น ป.1 และ ป.2 ของเกาหลีใต้ เริ่มมีผลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเว็บไซต์โคเรียไทม์ส สื่อเกาหลีใต้ รายงานอ้างอิงแถลงการณ์กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศ ครอบครัว และภาษี ซึ่งระบุว่า นโยบายดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อปราบปรามโรงเรียนเอกชนที่แสวงหาผลประโยชน์จากการเปิดสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กประถมโดย��ก็บค่าเล่าเรียนสูงเกินจริง ทั้งที่การเรียนการสอนไม่ได้มาตรฐาน
โรงเรียนประถมหรือสถาบันสอนภาษาเอกชนที่ฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าวจะถูกพิจารณาปิดกิจการและถูกปรับเงิน 5 ล้านวอน (ประมาณ 1 ล้านบาท)
ทั้งนี้ ควอนจียอง ผู้อำนวยการกรมคุ้มครองและส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ปฐมวัย กระทรวงศึกษาธิการแห่งเกาหลีใต้ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีรา โดยระบุว่าพ่อแม่ชาวเกาหลีใต้จำนวนมากเชื่อว่าการเรียนรู้ภาษาที่สองนอกเหนือจากภาษาแม่ควรเริ่มต้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีเรียนรูู้ภาษาต่างประเทศควบคู่ไปกับการเรียนภาษาเกาหลีที่เป็นภาษาแม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วช่วงวัยที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ภาษาที่สอง ซึ่งในกรณีนี้คือภาษาอังกฤษ ควรเริ่มเมื่อเด็กเข้าสู่ชั้นประถม 3 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม โรเบิร์ต คลูนเดอร์ ศาสตราจารย์ด้านสัทศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์โคเรียไทม์ส โดยระบุว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาไม่เคยเห็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการสอนภาษาที่สองแก่เด็กปฐมวัย ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 5-7 ปี จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ภาษาแม่ และการสอนภาษาต่างประเทศแก่เด็กที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไปจะพบปัญหาเด็กพัฒนาทักษะการออกเสียงได้ช้ากว่าเด็กที่เริ่มเรียนภาษาต่างประเทศตั้งแต่ปฐมวัย
นอกจากนี้ การสั่งห้ามโรงเรียนประถมสอนภาษาอังกฤษแก่เด็กนักเรียนชั้น ป.1-2 ทั่วประเทศ จะส่งผลกระทบต่อครูและครูผู้ช่วยประมาณ 7,000 คนทั่วประเทศซึ่งจะต้องตกงานหรือสูญเสียรายได้ และก่อนหน้านี้ ผู้ได้รับผลกระทบได้ร่วมกันลงชื่อร้องเรียนต่อศาลเกาหลีใต้ แต่ศาลมีคำพิพากษาให้ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเริ่มเสนอต่อที่ประชุมสภาตั้งแต่ปี 2559
แหล่งข่าวในกระทรวงศึกษาธิการรายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอัลจาซีราเพิ่มเติมว่า รัฐบาลตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างโอกาสเรียนรู้ภาษาต่างประเทศของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เพราะทักษะด้านภาษาจะช่วยพัฒนาความสามารถและโอกาสทางอาชีพการงานของเด็กนักเรียนในอนาคต แต่การเปิดสอนภาษาอังกฤษของโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ เด็กจากครอบครัวฐานะดีมีโอกาสเรียนรู้ภาษาอื่นๆ มากกว่าเด็กจากครอบครัวยากจน ทางกระทรวงจึงได้ริเริ่มนโยบายปรับหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางการศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
อ่านเพิ่มเติม: