ไม่พบผลการค้นหา
ชอบเล่นเกมโปเกมอนโกไหม? โปเกมอนโกเป็นเกมหนึ่งที่หลายคนชอบมาก ซึ่งหนึ่งเหตุผลของความชอบเกิดจากเทคโนโลยี Augmented Reality หรือใครต่อใครต่างเรียกกันว่า AR ที่เนรมิตให้เจ้าตัวโปเกมอนน่ารักๆ ทั้งหลายมีชีวิตขึ้นมาให้ได้ไล่จับด้วยแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนนั่นล่ะ

เทคโนโลยี AR เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยผสานระหว่างโลกความเป็นจริง และเทคโนโลยีให้มาบรรจบกัน ด้วยการนำภาพเสมือนที่เป็น 3 มิติมาประมวลผลผ่านกล้อง ทำให้วัตถุทับซ้อนเป็นภาพเดียว

วันนี้ เทคโนโลยี AR ได้ก้าวเข้ามาในแวดวงหนังสือให้นักอ่านได้กรี๊ดกร๊าดกันแล้ว เหมือนที่เราเองก็แทบกรี๊ดเมื่อได้เห็นฉาก และตัวการ์ตูนในหนังสือมาปรากฏตัวอยู่ในสมาร์ทโฟนเจ๋งๆ ในนิทรรศการ ‘ครีเอทีฟ คอมิก คอลเลคชั่น’ (Creative Comic Collection : CCC) จากไต้หวัน ที่กำลังจัดอยู่ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 46 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

29884408_10213299946147002_1856903608_o.jpg

เดินเข้ามาในส่วนที่จัดนิทรรศการปุ๊บ เราก็ได้รับแจกหูฟังพร้อมอุปกรณ์แท็บเลตขนาดเหมาะมือที่มีเทคโนโลยี AR ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยภายในห้องจะแบ่งออกเป็น 4 มุม มาจากหนังสือการ์ตูน 4 เรื่องของไต้หวันที่มีสำนักพิมพ์แปลเป็นภาษาไทยแล้วทุกเล่ม ซึ่งแต่ละมุมจะดูเหมือนเป็นห้องว่างๆ มีฉากและอุปกรณ์ประกอบฉากวางไว้

เมื่อสวมหูฟัง และเปิดแอปพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนปุ๊บ ตัวละครในการ์ตูนทั้ง ‘สาวคัดแยกใบชา’ และ ‘จอห์น ดอดด์’ ก็จะโผล่ออกมาในฉากว่างๆ เหล่านั้น พร้อมพูดคุยเล่าเรื่องราวต่างๆ ในการ์ตูนพร้อมชวนเราทำนั่นนี่เมื่อราว 150 ปีก่อนด้วยเทคโนโลยี Tango Google ที่สร้างพื้นที่เสมือนซ้อนทับอยู่บนความจริง

น่ารักมากๆ จนอยากจะตามไปหนังสือมาอ่านให้จบเล่ม

อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศ และหัวหน้าคณะผู้ประสานงาน Guest of Honor ซึ่งปีนี้คือไต้หวัน เล่าให้ฟังว่า การ์ตูนทั้ง 4 เรื่อง คือ ‘ปริศนาหอร้อยภาพ’ ‘ชาอู่หลงกับการผจญภัยในต่างแดน’ ‘บันทึกจากชาวดัตช์’ และ ‘ละครหุ่นผ้าสัประยุทธ์’ ที่นำมาจัดแสดงด้วยเทคโนโลยี AR และ Google Tango ที่จับภาพรอบด้านด้วยเซ็นเซอร์อัจฉริยะมีธีมหลักคือ การเล่าประวัติศาสตร์ของไต้หวันให้เด็กรุ่นใหม่ได้เข้าใจ โดยสร้างพื้นที่ที่วัฒนธรรมประวัติศาสตร์กับเทคโนโลยีทันสมัยสามารถมาอยู่ร่วมฉากเดียวกัน ซึ่งนอกจากการอ่านด้วยตาแล้ว เราจึงยังจะสามารถสื่อสารกับกับตัวละครในการ์ตูนได้ด้วยการมองและการฟัง

29748427_10213299942746917_214662024_o.jpg

จะว่าไปก็เหมือนการเปลี่ยนแพลตฟอร์มการอ่านประวัติศาสตร์ จากดั้งเดิมที่เป็นการ์ตูนภาพบนหน้ากระดาษ ก็ขยายสู่การสื่อสารด้วยเทคโนโลยีของสมาร์ทโฟนให้เด็กๆ รุ่นใหม่ที่เติบโตในวัฒนธรรม Visual Culture สามารถเข้าใจได้ง่าย และสนุกสนานกับสารทางประวัตศาสตร์ที่ต้องการสื่อ

ทะลุมิติไปสู่ร้านชาร้อยปี เป็นเซ็กชั่นหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยกับหนังสือเรื่อง ชาอู่หลงกับการผจญภัยในต่างแดน โดยย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 18 ที่ไต้หวันกลายเป็นภูมิลำเนาแห่งใหม่ของผู้อพยพ สวรรค์ที่เปี่ยมไปด้วยโอกาสของนักผจญภัย จอห์น ดอดด์ และหลี่ชุนเซิง คนต่างถิ่นผู้มีอุปนิสัยแตกต่างกันได้มาเจอกัน ณ ที่แห่งนี้ พวกเขามีความฝันอย่างเดียวกัน ก็คือทำให้กลิ่นหอมของชาอู่หลงไต้หวันซึ่งตอนนั้นเป็นชาเกรดต่ำหอมฟุ้งไปสู่ต่างแดน

ในพื้นที่ของเซ็คชั่นนี้ สร้างฉากให้เป็นร้านชาแห่งยุคราชวงศ์ชิง โดยใช้เทคโนโลยีตรวจสอบการเคลื่อนไหวของวัตถุ Google Tango และไปเยี่ยมชมบริษัทต่างชาติเป่าซุ่น โดยให้เจ้าของบริษัท จอห์น ดอดด์ เป็นไกด์พาชมด้วยตนเอง คุยกับเราจ้อๆ แนะนำประวัติศาสตร์เส้นทางการเดินทางของชาอู่หลงที่ต้องฝ่าฝันอุปสรรคไม่น้อยกว่าจะเป็นชาดังระดับโลกในวันนี้

29829106_10213299942786918_648472944_o.jpg

จากศตวรรษที่ 18 เดินทางมาสู่ร้านกาแฟในกรุงไทเปยุคปี 1930 ใน ‘ปริศนาหอร้อยภาพไทเป’ ที่ชั้น 1 ของร้าน อบอวลไปด้วยกลิ่นอันหอมหวานของขนมนมเนย มีพนักงานสาวคอยต้อนรับบริการ แต่ชั้น 2 เป็นห้องหนังสือเฉพาะสำหรับเจ้าของร้านที่เต็มไปด้วยหนังสือเก่าแก่ และของสะสมจำนวนมาก

ที่สำคัญคือ มีเหล่าวิญญาณซุกซ่อนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิญญาณของผู้ถูกลืม ที่ซ่อนตัวอ่านหนังสืออยู่เงียบๆ ในห้องหนังสือ ภาพบรรยากาศงานไทเปเอ็กซ์โปอันคึกคัก หนุ่มน้อยที่ใฝ่ฝันอยากขึ้นบิน แหงนหน้าเฝ้าชมการแสดงของเครื่องบินเล็กที่ไร้คนควบคุม

แล้วเราจะมองเห็นภาพเหล่านี้ได้อย่างไรนั่นหรอ ก็จากเทคโนโลยี AR ที่มองผ่านสมาร์ทโฟนนั่นล่ะ เจ๋งมากๆ เลย

ใครไปงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ ก็ลองไปเปิดประสบการณ์การอ่านใหม่ๆ กันดู

โลกไปไกลมากแล้ว วันหนึ่งเราอาจได้อ่านจอยลดาผ่าน AR ก็ได้นะ