ไม่พบผลการค้นหา
ประเทศไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลก ว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 ขณะที่ผลสำรวจพบไทยมีผู้เสียชีวิตจากรถชนกันเป็นอันดับหนึ่ง

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ผู้จัดการโครงการประชาสัมพันธ์การประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกัน การบาดเจ็บ และความรุนแรงอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 13 ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายนนี้ ที่ไบเทค บางนา เปิดเผยว่า ถือเป็นครั้งแรกของประเทศจากภูมิภาคเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยความร่วมมือของหน่วยงานหลัก 4 หน่วยงาน ได้แก่ องค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทย เพราะจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม จากต่างประเทศทั่วโลก ทั้งเรื่องการแก้ปัญหาสังคม ปัญหาสุขภาพ ปัญหาและ การจัดการด้านความปลอดภัย ทางถนน การป้องกันความรุนแรงในเด็กและสตรี การป้องกันการบาดเจ็บในผู้สูง อายุและการเล่นกีฬา ภายใต้เป้าหมายร่วมกันทั่วทั้งโลก คือ เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals : SDGs ขององค์การอนามัยโลก

งานดังกล่าวมีผลงานทางวิชาการส่งมาจากทั่วโลก และผ่านการคัดเลือก 1,300 เรื่อง โดยภัยทั่วโลกที่มีสถิติรายงานพบว่า เรื่องของความรุนแรงเป็นภัยอันดับ 1 ของโลกมากกว่า 1.6 ล้านคน อันดับ 2 คือ รถชนกันตาย 1.5 ล้านคน ขณะที่ภัยในประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) อุบัติเหตุทางถนนทำให้เสียชีวิตสูงที่สุด โดยอุบัติเหตุรถชนกันเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งการเสียชีวิตจากการชนบนถนน ปรากฏว่า คนอายุ 11-30 ปี มีการเสียชีวิตสูงมาก

ด้าน นพ.วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธาน คนที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น คนเดือดร้อนคือคนไทยทุกคนที่ต้องลุกขึ้นมาช่วยกันทำงาน กรณีการชนบนถนน ผลสำรวจใหม่ขององค์การอนามัยโลกพบว่า ประเทศไทยน่าจะขึ้นอันดับหนึ่งของโลก เสียชีวิตวันละ 60 คน หากไม่ทำอะไรเลยจะมีความสูญเสียมากกว่านี้