นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันแคโรลินสกา ประเทศสวีเดน ค้นพบอวัยวะรับความเจ็บปวดชนิดใหม่บนผิวหนังซึ่งมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นและการระคายเคืองจากสิ่งแวดล้อมที่มีอันตราย
ศาสตราจารย์ แพทริค เอิร์นฟอร์ หัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า งานศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่าความอ่อนไหวต่อความเจ็บปวดไม่ได้เกิดขึ้นที่เส้นใยประสาทผิวหนังเท่านั้น แต่ยังเกิดที่อวัยวะรับความเจ็บปวดที่เราเพิ่งค้นพบนี้ด้วย
"การค้นพบเปลี่ยนความเข้าใจเรื่องกลไกการรับความเจ็บปวดของเซลล์ และยังอาจช่วยให้เราเข้าใจอาการปวดเรื้อรังมากขึ้น" แพทริค กล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้อธิบายอวัยวะรับความเจ็บปวดว่าการกระตุ้นต่ออวัยวะส่งผลให้เกิดการส่งกระแสไฟฟ้าในระบบประสาท ทำให้มนุษย์เปิดปฎิกิริยาตอบสนองต่างๆ รวมถึงการรับรู้ซึ่งความเจ็บปวดด้วย
โดยอวัยวะรับความเจ้บปวดชนิดใหม่นี้มีเซลล์ที่ชื่อว่า เซลล์ชวานน์ ซึ่งเป็นเซลล์ค้ำจุนชนิดหนึ่ง ที่มีขายาวแตกแขนงออกมาพันตัวเองรอบๆ กับเซลล์ประสาททั่วไป เพื่อทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ โดยเซลล์เหล่านี้ฝังตัวอยู่ใต้ผิวหนังชั้นนอก ส่วนขาที่ยื่นออกมาจะทิ่มออกไปในชั้นผิวหนังชั้นนอก ซึ่งอวัยวะนี้เกิดจากเซลล์ที่มีความไวต่อแรงกระตุ้นทำให้สามารถรับรู้ถึงความเจ็บปวดได้
ในการทดลองเพื่อศึกษา นักวิจัยทำการตัดต่อพันธุกรรมให้เซลล์ชวานน์ในหนูมีความไวต่อแสง เมื่อส่องแสงเข้าไปที่เท้าหนู หนูเหล่านั้นจะเลียและสะบัดเท้าของพวกมัน ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่สะท้อนให้เห็นว่าเซลล์เหล่านี้รับรู้ความเจ็บปวดได้
แพทริค กล่าวว่า แม้จะยังไม่มีการศึกษาในมนุษย์ แต่เมื่อย้อนกลับไปดูงานศึกษาจะพบว่าอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทในหนูมักมีในมนุษย์ด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นไปได้ที่อวัยวะนี้จะมีอยู่ในมนุษย์เช่นเดียวกัน
ประเด็นสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ก็เพื่อการนำมาพัฒนาการรักษาอาการปวดเรื้อรังในมนุษย์ ที่มีสถิติว่าประชาชน 1 ใน 5 ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการปวดเรื้อรังเหล่านี้ และต้องเสียเงินจำนวนมากกับยาแก้ปวดที่ไม่สามารถรักษาอาการให้หายขาดได้
อ้างอิง; The Guardian, The Sun, The Independent