ไม่พบผลการค้นหา
เวทีเสวนา '42 ปี 6 ตุลาฯ' อรรถวิชช์ ชี้ทหารตั้งพรรคหวังต่อท่ออำนาจ มักมีจุดจบไม่สวย ด้านธนาธร ขอประชาชนไปเลือกตั้ง หยุด คสช.สืบทอดอำนาจ ฟากตัวแทนพรรคเพื่อไทยขอโทษแทนพรรคที่เคยเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนทำให้หลายคนเกิดความผิดหวัง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากเวทีเสวนาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง '42 ปี 6 ตุลาฯ จุฬาฯ มองอนาคต' ซึ่งจัดขึ้นวันนี้ (14 ต.ค. 2561) โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส. พรรคประชาธิปัตย์, นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน, นายชุมพล ครุฑแก้ว ผู้ก่อตั้งพรรคกลาง, นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส สมาชิกพรรคเพื่อไทย และนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ พรรคสามัญชน

42 ปี 6 ตุลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬา

'ธนาธร' ชี้ 14 ตุลา 16 - 6 ตุลา 19 เป็นเวลาสั้นๆ ของประชาธิปไตยไทย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง 14 ตุลา 2516 ที่ผู้คนตื่นตัวพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งเหตุผลที่ประชาชนและนักศึกษาออกมาเพราะถูกกดหัวมานานกว่า 16 ปี ที่ก่อนหน้านั้นสังคมตกอยู่ภายใต้เผด็จการมาตลอด ดังนั้นในช่วงเวลา 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 เป็นช่วงเวลาที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ แต่เสียดายที่เป็นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 3 ปีเท่านั้น เพราะหลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา เราก็ตกอยู่ในประชาธิปไตยครึ่งใบมาโดยตลอด และทุกวันนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มคนที่มีอำนาจไม่กี่คนฉุดรั้งประเทศไม่ให้เดินไปข้างหน้า

ขณะเดียวกัน วาทกรรมของผู้มีอำนาจที่ต้องการทำให้คนกลัวคือ ประชาธิปไตยเป็นตัวสร้างปัญหา เพื่อเป็นข้ออ้างให้ชนชั้นนำหรือทหารเข้ามายึดอำนาจ ดังนั้นเชื่อว่าหากประชาชนและพรรคการเมืองปฏิเสธอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยและประชาชน การรัฐประหารก็จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ที่ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพราะมีบางพรรคสนับสนุนอำนาจเหล่านี้อยู่ และมองว่าความขัดแย้งที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการคอรัปชั่น แต่ปัญหาคือการต่อต้านคอรัปชั่นด้วยการอ้างอิงอำนาจที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งอำนาสูงสุดเป็นของประชาชน จึงขออย่าล้มล้างสิ่งที่เคยเกิดขึ้นและห้ามไม่ให้ทหารมาเข่นฆ่าประชาชนอีก

ดังนั้น หากจะปรองดองด้วยอำนาจที่กดทับคนอื่น หรือเอารองเท้าบูทเหยียบคนอื่นให้ปรองดองไม่ได้ จึงต้องใช้ความเป็นธรรมอย่างเดียว รวมทั้งต้องเอาความทรงจำและความจริงกลับคืนมา พร้อมเชิดชูคนที่เคยต่อสู้มา เพื่อกลับสู่ประชาธิปไตย หยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช.ให้ได้ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้อนาคตประเทศว่าคนไทยจะอยู่กับเผด็จการต่อไปหรืออยู่กับเสรีภาพ ถ้าอยากอยู่ใต้รองเท้าบูทก็เลือกกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าไม่อยากก็เลือกอีกกลุ่ม ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ว่าประเทศจะไปทางไหน นอกจากนี้เ ราต้องจัดการกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีที่มาจากคนที่ยึดอำนาจของประชาชน ขณะเดียวกันเราต้องล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารทั้งหมดนี้ให้ได้ เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชนและพรรคการเมืองว่าจะพร้อมใจกันต่อสู้เพียงใด

'อรรถวิชช์' เปรียบ 'พรรคพลังประชารัฐ' เดินซ้ำย้อนรอย 'พรรคสหประชาไทย'

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในยุคก่อนมีจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งตนเปรียบประมาณ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนี้ ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการตั้งพรรคสหประชาไทยต่อท่ออำนาจเพื่อเดินสู่การเลือกตั้ง แต่สุดท้ายเป็นเผด็จการที่ไม่คุ้นเคยกับระบบรัฐสภาก็มีการปฏิวัติ ต่อมาในการรัฐประหารหลายครั้งทั้งในยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ก็มีการต่อท่ออำนาจโดยการตั้งพรรคสามัคคีธรรม ที่ดูดทุกพรรคการเมืองเข้ามา แต่เมื่อจะเลือกนายกฯ กลายเป็นพลเอก สุจินดา คราประยูร สมาชิก รสช. ต่อท่ออำนาจอีก จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น มาจนถึงยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ที่ตอนหลังพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ก็มาตั้งพรรคมาตุภูมิ แต่สุดท้ายเหลือสมาชิกเพียงคนเดียว 

ดังนั้น เมื่อเดินมาถึงวันนี้ก็มีพรรคพลังประชารัฐ มองว่าเป็นการต่อท่อรัฐบาล เพราะมี 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน และไม่ทราบว่าเป็นพรรคของพลเอกประยุทธ์หรือไม่ เพราะยังไม่แสดงท่าทีชัดเจน แต่ประวัติศาสตร์ได้สอนให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่ต่อท่ออำนาจโดยการตั้งพรรค เพราะสุดท้ายแล้วหากไม่เจอการรัฐประหารตัวเองหรือกลุ่มอำนาจอื่นทำรัฐประหาร ก็จะเจอกับระบบส้นเท้าแห่งชาติ คือ เจอกับประชาชน

ทั้งนี้ หากพลังประชารัฐทำในลักษณะต่อท่ออำนาจ ไม่เคารพเสียงข้างมากในสภาถือเป็นเรื่องใหญ่ อย่าลืมว่าพลเอกประยุทธ์ สวมหมวก 2 ใบ แม้วันนี้ไม่รู้จะมาเป็นแคนดิเดตเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่หมวกอีกใบคือเป็นหัวหน้าคสช. ซึ่งส.ว.จำนวน 250 ตน ก็มาจากการคัดเลือกของคสช. ซึ่งสิ่งที่อันตรายที่สุดของการต่อท่ออำนาจคือหากหัวหน้าคสช. ไม่เคารพเสียงข้างมากในสภาที่มาจากประชาชน เกิดหักเหลี่ยมเมื่อพรรคการเมืองจับมือได้เกิดครึ่งของสภา แต่กลับไม่ให้ส.ว. ยกมือให้เป็นก็จะบรรลัยกันหมด ย้ำว่าตนเองไม่ได้รังเกียจทหาร แต่อย่าเอาสถาบันทหารมาปนกับสถาบันการเมือง

'สมบัติ' ย้ำบทเรียน 6 ตุลา 2519 อย่าลดทอนความเป็นมนุษย์ เพราะคิดต่างทางการเมือง

นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หัวหน้าพรรคเกียน กล่าวว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นการสร้างความหวาดกลัวให้คนเชื่อว่านักศึกษากลุ่มหนึ่งมีเชื้อทางความคิดและจะระบาดไปยังคนอื่นๆ ได้ คนที่ไม่เอาเผด็จกาลถูกผลักให้เป็นฝ่ายซ้ายหรือคอมมิวนิสต์ที่เป็นภัยต่อสังคม มีการลดทอนความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างความชอบธรรม แม้วันนี้บริบทเรื่องคอมมิวนิสต์จะหมดไป แต่กลไกการลดทอนความเป็นมนุษย์ยังมีอยู่ เช่น กลุ่มคนเสื้อแดงที่ถูกลดทอนให้เป็นตัวอันตราย มีการสร้างวาทกรรมจนสุดท้ายมีการเข่นฆ่าและทำลายคน

อย่างไรก็ตาม การเมืองก็คืออำนาจในการจัดสรรทรัพยากร จึงมีความพยายามแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ซึ่งเหตุการณ์ 6 ตุลา และหลายเหตุการณ์ทางการเมืองไทยยังมีการให้เหตุผลเพื่ออนุญาตให้เข่นฆ่ากันอยู่ ดังนั้นเราต้องอย่ายอมให้ใครมาอ้างเรื่องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ มาเป็นเหตุผลเพื่อทำลายคุณค่าของความเป็นคน ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์เหมือน 6 ตุลาขึ้นอีก

'ผู้ก่อตั้งพรรคกลาง' ปลุกประชาชนออกจาก comfort zone สร้างการเปลี่ยนแปลง

ด้าน นายชุมพล ครุฑแก้ว ผู้ก่อตั้งพรรคกลาง กล่าวว่า การที่นักศึกษาออกมาในวันนั้นก็เหมือนกับที่พวกเรามาอยู่บนเวทีในวันนี้ ที่เดิมทีทุกคนทำงานด้านต่างๆ ของตัวเอง แต่มีความสนใจทางการเมืองและเมื่อมีความไม่พอใจแล้วอยากทำอะไรบางอย่าง จึงตัดสินใจออกมาจาก comfort zone ลงสู่สนามการเมือง 

ขณะเดียวกัน เหตุการณ์ในอดีตก็เป็นตัวชี้วัดผู้มีอำนาจว่าไม่สามารถประเมินค่าประชาชนและนักศึกษาที่ออกมาพร้อมกันได้ จึงคาดหวังว่าหากประชาชนกล้าออกมาจาก comfort zone สังคมเราก็จะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ ขณะที่คู่ขัดแย้งในสังคมจริงๆ นั้น ไม่ใช่ประชาชนด้วยกันเอง แต่เป็นผู้มีอำนาจกับประชาชน ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าคนนี้ดี แต่เมื่อมีอำนาจก็เกิดความโลภ ความกลัวจะสูญเสียอำนาจ ทั้งนี้เราอาจไม่สามารถเอาคนดีมาเป็นผู้มีอำนาจได้เสมอ จึงต้องสร้างระบบให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อไม่ให้ผู้มีอำนาจคอรัปชั่นได้อีก

ตัวแทนเพื่อไทย ขอโทษแทนพรรคเคยเสนอ พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคการเมืองใดที่จับมือกับทหาร ถือเป็นพรรคที่เสียจุดยืนทางประชาธิปไตย ดังนั้นอยากขอให้เปลี่ยนแปลงความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นมาเป็นปลายปากกากาบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้ประชาธิปไตยเดินต่อไป ไม่ยอมรับอำนาจทหารและอำนาจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

ขณะเดียวกัน วันนี้เหตุการณ์รัฐประหารยังเกิดขึ้นซ้ำ ซึ่งตัวแปรที่ทำให้เกิด 6 ตุลา คือวาทกรรมที่รัฐบาลนี้ยังใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง รวมถึงอยากถามว่ารายการคืนความสุขให้คนในชาติแตกต่างอะไรกับวิทยุยานเกราะสมัยก่อน อีกทั้งยังเอาศิลปินดารามาเป็นตัวแทน ซึ่งต้องบอกว่าประชาชนไม่ได้โง่ นอกจากนี้ตนเองขอโทษแทนพรรคเพื่อไทยที่เคยเสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรม จนทำให้หลายคนเกิดความผิดหวัง 

ส่วนนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ พรรคสามัญชน กล่าวว่า การรัฐประหารคือการคอรัปชั่นครั้งใหญ่ จึงอยากเสนอให้มีการทำประชาคมเพื่อสอบถามประชาชนให้ชัดเจนไปเลยว่าจะเอาทหารหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะเลือกเอง