ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนา The Move We Decide-ก้าวที่เลือกได้ ที่ มธ.วันนี้ 4 นักการเมืองเห็นพ้องรัฐธรรมนูญสร้างเงื่อนตายทางการเมือง เสรีพิสุทธิ์ลั่นไม่เอาเผด็จการ สุดารัตน์ระบุหลังเลือกตั้ง ผู้แทนขยับยาก ปิยบุตรชี้ประชาชนต้องแก้ รธน. ได้ ด้านอรรถวิชช์เสนอลองใช้ไปก่อน ไม่ดีค่อยแก้

สุดารัตน์: ที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่โรดแมปสู่ประชาธิปไตย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ระบุว่าผู้อำนาจรัฐต้องฟังเสียงรวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม นอกเหนือจากเป็นสิทธิพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย แต่เรายอมรับว่าระบอบนี้เป็นระบอบที่ให้โอกาสคนทุกคนใกล้คียงกัน ดีที่สุดเท่าที่ในโลกนี้คิดขึ้นมาใช้ และเมื่อเราเชื่อว่าระบอบนี้เป็นระบบที่เหมาะกับประเทศ และ คสช. บอกว่าจะคืนประชาธิปไตยให้ ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าก็คือสิ่งที่ต้องเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามคุณหญิงสุดารัตน์มองว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่มองเห็นขณะนี้คือ ไม่ว่าจะเป็น แผนยุทธศาสตร์ชาติ กรอบการปฏิรูป รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ล้วนแต่เป็นการแสดงให้เห็นเจตนาว่า คสช. ทำการปฏิวัตินั้นมีเจตนาอะไร


“เราอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นโรดแมป แต่ไม่ใช่โรดแมปสู่การเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นโรดแมปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นโรดแมปของการประกันว่าคสช. จะกลับคืนสู่อำนาจ”


คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวและว่าผู้แทนของประชาชนที่จะมาจากการเลือกตั้งในครั้งหน้าจะทำอะไรได้ยากมากภายใต้กรอบเหล่านี้ แม้แต่ คสช. เองซึ่งจะต้องบริหารโดยไม่มี ม. 44 ก็จะเป็นเรื่องยากเช่นกัน

คุณหญิงสุดารัตน์กล่าวต่อไปว่า เมื่อกลไกเป็นปัญหาก็ไม่สามารถเป็นกลไกหรือเป็นระบอบที่เอื้ออำนวยต่อประชาชน ต่อปากท้องประชาชนที่จะทำมาหากินได้ เป็นกลไกที่เราต้องเดินตามแผนปฏิรูปแผนยุทธศาสตร์ชาติ ประทเศไทยจะเป็นประเทศแรกในโลกที่นักการเมืองและพรรคการเมือง จะถูกตัดสินยุบพรรค เพราะการประกาศนโยบาย กลไกที่ไม่สามารถเอื้ออำนายต่อการทำงานของผู้แทนราษฎร ก็ต้องกลับไปแก้ที่จุดเริ่มต้นปัญหาก็คือการแก้ที่กติกา และรัฐธรรมนูญจะแก้ก็ยาก แค่ประกาศก็ไม่รู้จะติดคุกหรือไม่ แต่โดยส่วนตัวก็เชื่อว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นความต้องการของประชาชน

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวด้วยว่า 4-5 ปีมานี้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เพราะไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด อย่างไรก็ตามการทุจริตยังคงมีในทุกรัฐบาล แต่ไม่ให้อำนาจประชาชนในการกำกับดูแล เราต้องยืนบนหลักของความจริง หลักในการบริหารประเทศอยู่บนหลักของความจริงคือการดูแลคนรากหญ้า จึงต้องรู้วิธีแก้ให้คนรากหญ้ามีอยู่มีกิน และมองว่าหากแก้ไขเศรษฐกิจรากหญ้าดี ประชาชนทุกระดับดี เศรษฐกิจประเทศ GDP ของประเทศจะดีขึ้นตามไปด้วย

ในส่วนของการปฏิรปกองทัพ คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่าทหารสามารถพัฒนาประเทศได้ เพราะมีเครื่องมือยุทโธปกรณ์อยู่ในมือ ผบ.ทบ ในอดีตก็สามารถนำพากองทัพไปสู่ทิศทางที่ดีได้ แต่ ผบ.ทบ บางยุคสมัยก็หลงในอำนาจเอากำลังพลและอำนาจเป็นของตนเองเพื่อเป็นเครื่องมือ แต่ตนเองยังคิดว่าทหารยังเป็นทหารของพระราชา และมองว่าไม่อยากให้มีการเกณฑ์ทหารเพื่อไปรับใช้นายพล เนื่องจากมีพลทหารในประเทศมีราว 400,000 คน เพียงพอที่จะดูแลความสงบเรียบร้อยให้ประชาชนอยู่แล้ว

เสรีพิศุทธ์: “ไม่เอาเผด็จการแน่”

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นข้างหน้าจะแตกต่างจากที่ผ่านมาครั้งก่อนๆ ซึ่งที่ผ่านมาพรรคการเมืองก็จะส่งคนเข้าสมัครรับเลือกตั้ง แล้วจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล แต่คราวนี้ไม่ใช่ เพราะภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งทุกพรรคพร้อมเสนอ แต่ขณะเดียวกัน พรรคที่เป็นรูปแบบพรรคทหาร หัวนั้นไม่กล้าเปลืองตัว แต่เมื่อรัฐธรรมนูญให้เสนอชื่อบุคคลแล้ว ก็ไม่ต้องดูชื่อผู้สมัครในแต่ละเขตเลย แค่ดูชื่อว่าพรรคนั้นๆ จะเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เลือกพรรคนั้นได้เลย

“ผมไม่เอาเผด็จการแน่” นายเสรีพิสุทธิ์กล่าวว่าถ้า 4 พรรคที่ร่วมเวทีเสวนาเดียวกันประกาศไม่เอาเผด็จการ ก็จะชนะแน่ๆ

ทั้งนี้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุว่าหัวหน้าพรรคทั้งหลายต้องแสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าต้องเข้ามาแก้ปัญหาของประเทศ ต้องแสดงวิสัยทัศน์ที่จะปราบเผด็จการให้ได้ด้วย ถ้าปราบไม่ได้ก็ไม่สมควรเข้ามา 

พล.ต.อ.เสรีพิสุทธ์ ยังย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ต้องทำตามกฎหมายแม้กฎหมายที่ออกมาจะบิดๆเบี้ยวๆ ก็ตาม และขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา อย่าให้เกิดการทุจริตเลือกตั้ง

20180520_Sek_16.jpg

อรรถวิชช์: เสนอลองใช้ก่อน ถ้าไม่ดีเชื่อว่าประชาชนแก้ได้

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า เงื่อนไขที่มีอยู่ขณะนี้เป็นเรื่องยาก ทั้งตัวรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ซึ่งล้านแล้วแต่แก้ยาก แต่ถ้าประชาชนต้องการแก้ก็เชื่อว่าทำได้

อย่างไรก็ตาม นายอรรถวิชช์ระบุว่าประเทศไทยมีประชาธิปไตยกว่า 80 ปี เสียเวลาร่างรัฐธรรมนูญเสียเวลาแก้มากกว่าเวลาใช้ จึงตั้งคำถามว่าเรากำลังยึดติดกับวิธีการเท่านั้นหรือไม่

“แบบนี้ไม่ดีทหารมาฉีกทิ้ง หรือทหารไม่ดีก็ฉีกทิ้ง มันก็จะสาละวน” โดยนายอรรถวิชช์เห็นว่าถ้าประชาชนเห็นว่ามันต้องแก้มันก็แก้ได้ ต่อให้เขียนให้แก้ยาก ก็ต้องแก้ได้ แม้แต่ยุทธศาสตร์บอกว่าแก้ไม่ได้ก็ไม่จริง เพราะว่าเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นข้อแนะนำ 

ทั้งนี้ นายอรรถวิชช์เสนอว่าอย่าเพิ่งรังเกียจรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะอย่างน้อยก็ผ่านประชามติ จึงควรลองใช้ก่อน ถ้าไม่ดี ก็แก้ และยืนยันว่าไม่มีอะไรที่แก้ไม่ได้

นายอรรถวิชช์ระบุว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีการให้อำนาจ ส.ว. สามารถร่วมในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ทำให้เกิดนายกรัฐมนตรี คนใน คนนอก และเกิดปรากฎการณ์ดูด อดีต ส.ส. เพื่อรวบรวมเสียง รวมถึงอาจจะเกิดกลไกติดล็อค เลือกนายกรัฐมนตรีในระบบไม่ได้ เพราะ ส.ว.ฟังคำสั่ง คสช. ทั้งนี้ตัวเองพร้อมยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่รับนายกรัฐมนตรีคนนอกเด็ดขาด แต่ก็ไม่รังเกียจหากทหารจะเข้ามาสู่การเมือง ตามวิถีทางประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมองว่า การปฏิรูปกองทัพ เรื่องของการเกณฑ์ทหาร จะต้องให้คนไทย รู้จักปกป้องประเทศให้ได้

นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวถึงการออกนโยบายพรรคการเมือง ว่า ตัวเองไม่เชื่อว่าการออกนโยบายจะเป็นความผิดแต่อาจจะผิดที่การปฏิบัติ อย่างนโยบายจำนำข้าว ไม่ใช่นโยบายที่ผิด แต่การปฏิบัติทำไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงถูกตรวจสอบจนศาลตัดสินมีผู้รับโทษ ดังนั้น ถ้าถามว่า กล้าเสนอนโยบายหรือไม่ ยังกล้าเหมือนเดิมและไม่กลัวติดคุก

ปิยบุตร: รัฐธรรมนูญไทย เมื่อกองทัพฉีกได้ ประชาชนก็ต้องแก้ได้

ปิยบุตร แสงกนกกุลจากพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่การฉีกรัฐธรรมนูญ ทำไมประชาชนจะขอแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ ในเมื่อกองทัพยังฉีกได้ ประชาชนก็ต้องแก้ได้

ทั้งนี้ปิยบุตรระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้นเกิดขึ้นและใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ ก็จะถูกใช้งานต่อเนื่องไปเรื่อยๆ แต่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามตินั้นไม่เห็นด้วย เพราะประชามตินั้นได้ทำในบรรยากาศที่ไม่มีส่วนร่วมกับประชาชนในขั้นตอนการร่างและการรณรงค์ ซึ่งเมื่อมีคนออกมาแสดงออกก็ถูกจับกุม

ปิยบุตรระบุว่ารัธรรมนูญที่ประชาชนมีส่สวนร่วมในการร่างจริงๆ คือ รัฐธรรมนูญปี 2540 หลังจากนั้นป็นเรื่องของการแก้แค้น และปัญหาหลักก็แสดงออกให้เห็นในรูปของหลักแบ่งแยกอำนาจที่ไม่ได้ดุลยภาพ


“รัฐธรรมนูญ 60 เกิดจากการที่ทำรัฐธรรมนูญ 50 แล้วจัดการไม่ได้ แล้วจะทำให้สิ่งที่ไม่ถูกต้องตาม รธน.เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นการแก้ปัญหาให้คนไม่กี่คน”


นายปิยบุตรเสนอว่า ในเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ต้องกลับไปสู่จุดเริ่มต้น เสนอให้ร่างกันใหม่ กลับไปสู่การจัดการต้นตอความขัดแย้งทางการเมืองไทย ที่ต่อเนื่องไม่จบไม่สิ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้กลับมาคุยกันว่าเราต้องการระบอบการเมืองแบบใดกันแน่

นายปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวด้วยว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้ระบบการเมืองที่ผิดปกติมา ตลอด 12 ปี ตั้งแต่ การรัฐประหารปี 2557 ซึ่งความผิดปกติเกิดขึ้นในรูปแบบของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 44 แผนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งทั้งหมดคือมรดกของ คสช. ซึ่งทางออกที่จะแก้ไขปัญหาทั้งหมดคือ จัดการมรดกของ คสช.ทิ้ง โดยมีการปรับแก้คำสั่ง คสช.และนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีทางการเมืองที่ขัดคำสั่ง คสช. ตั้งแต่ปี 2557 โดยเชื่อว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ไปต่อไม่ได้ จะต้องมีการปรับแก้ โดยเฉพาะมาตรา 279 ที่ทำเนื้อหาของรัฐธรรมนูญทั้งหมดไม่มีความหมาย ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชน

นายปิยบุตร มองประชาชนเป็นหุ้นส่วนไม่ใช่เพื่อไปหาเสียง เพราะในอดีตคนส่วนใหญ่มองว่าการพรรคการเมืองลงไปหาประชาชนเพื่อซื้อสิทธิ์จากประชาชน แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนมุมมองให้ได้ อย่างพรรคอนาคตใหม่จะไปรับฟังประชาชนในพื้นที่และนำมาวิเคราะห์ร่วมถึงศึกษาวิธีจากต่างประเทศ

นายปิยบุตร ยังกล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพ ว่าต้องเอาทหารออกไปจากการเมืองให้ได้ และยอมรับให้ได้ก่อนว่า รัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ ในอนาคตต้องยกระดับหลักการนี้ให้อยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย

ทั้งนี้ การปฏิรูปกองทัพสามารถทำให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยได้ ต้องทำอย่างไรที่จะเสริมสร้างสวัสดิการให้นายทหารชั้นผู้น้อย เลิกการเกณฑ์ทหาร แล้วเอางบส่วนนี้ไปดูแลตรงนั้น อีกทั้ง กองทัพเป็นหน่วยงานที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน การฝึกต่างๆ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะเขียนประกันสิทธิในรัฐธรรมนูญให้ผู้ปฏิบัติปฏิเสธคำสั่งที่ไม่ชอบ เช่น การสั่งให้ไปทำรัฐประหาร