ในเกมนัดชิงชนะเลิศของ AFC Champions League ทัวร์นาเมนท์ฟุตบอลระดับสโมสรของเอเชีย ระหว่างทีม ‘เปอร์เซโพลิส’ (Persepolis) สโมสรจากประเทศอิหร่าน กับ ‘คะชิมะแอนต์เลอส์’ (Kashima Antlers) จากญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2018 ที่ผ่านมา นอกจากผลการแข่งขันที่สโมสรจากฝั่งญี่ปุ่นคว้าแชมป์ไปได้ สิ่งที่เป็นประเด็นใหญ่อีกอย่างหนึ่งก็คือภายใน ‘อะซาดี’ (Azadi Stadium) สนามประจำชาติของอิหร่านในตะหะราน มีกองเชียร์ผู้หญิงเข้ามาชมเกมนี้ถึง 500 คน ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติเท่าไหร่ในสังคมอิหร่าน ที่มีข้อห้ามสำหรับผู้หญิงไม่ให้เข้าสู่สนามฟุตบอล เนื่องจากวัฒนธรรมที่มองว่าในสนามฟุตบอลนั้นควรมีแต่ผู้ชาย เพราะมีความไม่เหมาะสมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความไม่สำรวม รวมถึงคำหยาบคายระหว่างการแข่งขัน ซึ่งไม่เหมาะกับสตรี
สัญญาณการผ่อนปรนเรื่องนี้มีมาตั้งแต่ช่วงฟุตบอลโลก 2018 ที่รัฐบาลอิหร่านอนุญาตให้ผู้หญิงเข้ามาดูการถ่ายทอดสดเกมระหว่างอิหร่านกับสเปน ผ่านจอโทรทัศน์ขนาดยักษ์ในสนามอะซาดี ต่อมาในเกมอุ่นเครื่องระหว่างอิหร่านกับโบลิเวียในเดือน ต.ค. 2018 ทางการก็อนุญาตผู้หญิง 100 คนเข้าชมเกมเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 40 นับตั้งแต่มีการปฏิวัติอิหร่าน ที่มีการอนุญตให้ผู้หญิงเข้ามาชมการแข่งขันฟุตบอลชายได้
ในอดีตผู้หญิงอิหร่านเคยสามารถเข้าชมฟุตบอลในสนามได้ตามปกติ รวมไปถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่ผู้หญิงสามารถทำได้ อิหร่านเคยเป็นประเทศมุสลิมที่เปิดรับค่านิยมตะวันตกอย่างมาก จนมีการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 โค่นล้มราชวงศ์ปาห์ลาวี ภายใต้พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Mohammad Reza Shah Pahlavi) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา ทำให้อิหร่านกลายเป็นรัฐอิสลาม กำหนดให้ผู้หญิงจะต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมไม่รัดรูปเช่นเดียวกับการต้องคลุมฮิญาบที่ปกปิดเส้นผมตามหลักศาสนบัญญัติ กิจกกรมหลายอย่างเช่นการเข้าชมฟุตบอลกลายเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้หญิงตั้งแต่ตอนนั้น
ดังนั้นภาพผู้หญิงในสนามอะซาดี ที่ชื่อสนามมีความหมายว่า ‘เสรีภาพ’ จึงถูกยกย่องว่าเป็นชัยชนะของผู้หญิงในโลกอาหรับ ซึ่งจะกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอิหร่าน แน่นอนว่ามันเป็นความก้าวหน้าเล็กๆ ที่น่ายินดี แต่เสรีภาพที่ผู้หญิงได้มานั้น ยังเป็นเสรีภาพที่ถูกกำหนดและมอบให้โดยผู้ชาย
“ครึ่งหนึ่งของ อะซาดี(เสรีภาพ) เป็นส่วนแบ่งของเรา” เป็นสโลแกนของกลุ่มเรียกร้องสิทธิสตรีใช้รณรงค์ ให้ผู้หญิงมีสิทธิ์เข้าสนามฟุตบอลได้เหมือนผู้ชายสนาม อย่างกลุ่ม “Open Stadium” ที่ใช้โลกโซเชียลเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวหลักเพื่อกดดัน ส่งผลให้ทางสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือ FIFA ได้แสดงความกังวลในเรื่องนี้กับทางอิหร่านบ่อยครั้ง ในที่ประชุมเกี่ยวกับความเท่าเทียมในซูริค สวิตเวอร์เเลนด์ เมื่อช่วงต้นปี 2018 ทางอิหร่านเลยได้สัญญาว่าจะปรับปรุงเรื่องนี้ ซึ่งการเริ่มอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าสนามฟุตบอล จึงถูกมองว่ามาจากที่รัฐบาลอิหร่านกลัวแรงกดดันจาก FIFA ที่อาจจะส่งผลถึงการถูกคว่ำบาตรจากการแข่งขันระดับนานาชาติรายการใหญ่ๆ ในอนาคต มากกว่าการคิดถึงเรื่องเพิ่มสิทธิให้กับผู้หญิงในประเทศ
ทั้งยังต้องเผชิญกับทัศนคติของคนในประเทศที่มองว่ายังเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมที่ผู้หญิงจะเข้าไปอยู่ในสนามฟุตบอล หัวหน้าอัยการสูงสุดของอิหร่านเคยออกมาบอกว่า เป็นเรื่องที่บาปที่จะให้ผู้หญิง ดูผู้ชายเปลือยครึ่งตัวเล่นฟุตบอล มีความเห็นลักษณะนี้ออกมาจากผู้อำนาจหลายต่อหลายคนในอิหร่าน แสดงให้เห็นว่าทัศนคติที่มีต่อผู้หญิงในสังคมอิหร่านอาจจะยังไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าไหร่ด้วย
ในอีกประเทศโลกอาหรับ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบีย อนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปในสนามฟุตบอลได้ในเวลาใกล้เคียงกับอิหร่าน เกิดขึ้นในเกมการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรภายในประเทศเมื่อต้นปี 2018 ซึ่งถูกหลายคนมองว่าการอนุญาตผู้หญิงเข้าสนามบอลฟุตเป็นเพียงการใช้กีฬา เพื่อแสดงความให้ต่างชาติเห็นถึงความเป็นสมัยใหม่ของประเทศ ตาม วิสัยทัศน์ 2030 แผนยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว เพื่อพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ให้ทันสมัย แต่สิทธิสตรีในด้านอื่นๆ กลับยังไม่ได้รับการปรับปรุงจากในอดีต การให้ผู้หญิงเข้าสนามในฟุตบอลของอิหร่านจึงถูกมองไม่ต่างกัน ท่ามกลางกระแสความพยายามจะเปลี่ยนประเทศให้ออกจากภาพมุสลิมเคร่งธรรมเนียม ของเหล่าประเทศอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย
กระแสการพยายามเปลี่ยนภาพพจน์ของให้ไปสู่สมัยใหม่ของชาติเศรษฐีน้ำมัน มาจากแรงกดดันและปัจจัยต่างๆ ยิ่งหลังจากกระแส อาหรับสปริง (Arab Spring) ที่โลกได้เห็นผู้นำประเทศในชาติอาหรับหลายคนถูกโค่นล้ม ยิ่งทำให้ต้องพยายามปรับตัวเพื่อเอาใจคนในประเทศและลดแรงกดดันจากต่างประเทศ
อิหร่านกับอุดีอาระเบีย เป็นสองประเทศในกลุ่ม ‘Gulf nation’ ที่บาดหมางกันมาอย่างยาวนาน ทั้งเรื่องของศาสนา เศรษฐกิจ อิทธิทางการเมืองและการทหาร ความขัดแย้งทั้งในเยเมน ซีเรีย และอิสราเอล ต่างถูกสองชาตินี้ใช้เป็นสงครามตัวแทนเพื่อการเล่นงานอีกฝ่าย ยิ่งล่าสุดมีวิกฤตการในเยเมนยิ่งทำให้ความตึงเครียดมากขึ้นไปอีก
ทั้งซาอุฯ และอิหร่าน ต่างมีชาติพันธมิตรคอยหนุนหลังด้วยกันทั้งคู่ทั้งในโลกอาหรับด้วยกันและนานาประเทศอื่นๆ ว่ากันว่ากีฬานี้ละเป็นทูตที่ดีที่จะใช้แสดงภาพลักษณ์ในเวทีโลก ไม่งั้นหลายประเทศคงไม่รุมแย่งกันขอเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกหรือฟุตบอลโลก การอนุญาตให้ผู้หญิงเข้าไปในสนามฟุตบอลในแง่หนึ่งของสองประเทศคู่ขัดแย้ง จึงอาจเป็นเพียงการแข่งกันโชว์ความเป็นสมัยใหม่เพื่อการยอมรับในเวทีสากล ร่วมถึงลดแรงกดดันในประเทศได้บ้าง