ฮาคีม อัล-อาไรบี (Hakeem al-Araibi) นักฟุตบอลชาวบาห์เรนของทีม 'Pascoe Vale FC' ในประเทศออสเตรเลีย ถูกควบคุมตัวโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ระหว่างเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยกับภรรยา แรกๆ คาดว่าเนื่องจากมี ‘หมายแดง’ ที่ออกโดยองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (Interpol) แต่สุดท้ายหมายแดงนั้นก็ถูกยกเลิกไป เพราะเขาได้รับรองสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติให้พำนักในออสเตรเลีย จากการลี้ภัยทางการเมือง
แต่เขายังคงถูกควบคุมตัวอยู่อ้างตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ทำให้พบว่าทางบาห์เรนสอดแนมการเคลื่อนไหวของ อัล อาไรบี มาก่อนหน้า จึงขอความร่วมมือกับไทยให้ควบคุมตัวเขาตั้งแต่ยังไม่มาถึงที่ไทย ถึงแม้จะไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันก็ตาม
จึงเป็นที่วิจารณ์จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมากมายต่อการกระทำของรัฐบาลไทย ที่ควบคุมตัวเขาไว้อย่างไม่ชอบธรรม "ผมกลัวมากๆ ว่าอาจถูกส่งกลับไปบาห์เรนเมื่อไรก็ได้ ซึ่งถ้ามันเป็นแบบนั้นจริง ชีวิตผมต้องจบสิ้นแน่นอน ผมจะถูกซ้อมทรมาน และอาจจะถูกฆ่าตายด้วยซ้ำ" เขากล่าวกับ บีบีซีไทย ถึงความกังวลหากถูกส่งกลับไปยังประเทศที่เขาหนีมา เพราะการเปิดเผยเรื่องที่รัฐบาลบาห์เรนซ้อมทรมานเขาในการควบคุมตัว ซึ่งหากมองย้อนบาห์เรนก็เป็นหนึ่งกลุ่มประเทศในอ่าวเปอร์เซีย ที่มีประวัติการซ้อมทรมานผู้ต่อต้านรัฐบ่อยครั้ง และใช้กีฬาเป็นเครื่องมือบังหน้า
“ความสำเร็จของการขับเคลื่อนกีฬาระดับโลก คือเปิดกว้างให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างการอยู่ร่วมกับความแตกต่างหากหลาย การเปิดใจซึ่งกันและกัน” นาสเซอร์ บิน ฮะมัด อัล-เคาะลีฟะฮ์ (Nasser Bin Hamad Al-khalifa) เจ้าชายของบาห์เรนกล่าวในที่ประชุมของ สมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า (FIFA) ที่จัดขึ้นใน มานามาเมืองหลวงของประเทศ เมื่อปีที่แล้ว (2017) ระหว่างที่เขากำลังกล่าวนั้น ก็มีการชุมนุมต่อต้านการครองอำนาจของกษัตริย์อยู่ไม่ห่างจากที่ประชุมฟีฟ่า ต่อมาเพียงไม่กี่วันหลังการประชุมเสร็จสิ้น ก็ตามมาด้วยการปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างหนัก โดยยัดขอหาว่าผู้นำการประท้วงซึ่งเป็นมุสลิมนิกายชีอะห์ (ต่างจากผู้ปกครองที่เป็นสุหนี่) ว่ารับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่านมาป่วนประเทศ
นั่นไม่ใช่ครั้งแรก บาห์เรนเป็นประเทศที่นักโทษทางการเมืองจำนวนมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศที่เพียงประมาณ 6 แสนว่าคน หลายคนถูกจองจำ ซ้อมทรมาน ไปจนถึงถูกติดตาม
การประท้วงในบาห์เรนเริ่มขึ้นในปี 2011 พร้อมกันความไม่พอใจการปกครองที่แบ่งแยกชนชั้น รวมไปถึงเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจ ที่ได้รับอิทธิพลจากการกระแสอาหรับสปริงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือ การประท้วงดำเนินไปพร้อมกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐบาล ทำให้การแข่งขันรถฟอร์มูลาวัน (F-1) อันเป็นความภาคภูมิใจของบาห์เรนที่ได้จัดการแข่งขัน F-1 เพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอ่าวถูกยกเลิกไป ก่อนจะกลับมาจัดแข่งอีกในปี 2012 ด้วยกันผลักดันอย่างมากจากรัฐบาล โดยมีจัดการปราบปรามการชุมนุมอย่างหนักเพื่อเปิดทางให้มีการแข่งขันนี้ขึ้น เหตุการณ์นั้นถูกกล่าวกันว่าเป็นการแสดงทางการเมืองที่เสนอภาพความมีเสถียรภาพทางการเมืองมากกว่าจะเป็นแข่งขันความเร็ว
ย้อนกลับมาที่กรณีของอัล-อาไรบี เขาถูกจับกุมในปี 2012 และถูกศาลตัดสินคดีลับหลังพิพากษาให้จำคุก 10 ปี ข้อหาสร้างความเสียหายให้กับสถานีตำรวจ ซึ่งเขาปฏิเสธมาตลอด โดยอ้างว่าเวลาที่เกิดเหตุเขากำลังแข่งฟุตบอลอยู่ในต่างประเทศ แต่เป็นเพราะการเคลื่อนไหวของพี่ชายของมากกว่าที่ทำให้ถูกจับ ซึ่งเป็นวิธีที่เจ้าหน้าที่บาห์เรนมักจะใช้กดดันคนที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล โดยใช้การกดดันครอบครัวของผู้เคลื่อนไหว
ในปี 2014 เขาตัดสินใจหนีออกจากประเทศบาห์เรนมายังประเทศออสเตรเลีย และเปิดเผยเรื่องที่เขาถูกซ้อมทรมานระหว่างควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ "พวกเขาจับผมแน่นมาก ๆ แล้วมีคนหนึ่งเริ่มทุบขาผมอย่างแรง แล้วก็พูดว่าคุณจะไม่ได้เล่นฟุตบอลอีกต่อไป เราจะทำลายอนาคตคุณ” เขากล่าวกับ นิวยอร์กไทม์
ในปี 2015 มีเอกสารทางการถูกเปิดเผยออกมาระบุว่าในช่วงปี 2011 ที่การประท้วงขับไล่รัฐบาลเริ่มรุนแรง มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนเพื่อระบุตัวนักกีฬาที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการเดินขบวนประท้วงโดยเฉพาะ ทำให้มีนักกีฬา โค้ช กรรมการ มากว่า 150 คน ถูกจับหลังจากการมีตั้งคณะกรรมการ โดยใช้วิธีการค้นจากภาพถ่ายว่าใครเข้าไปร่วมชุมนุมด้วย ซึ่งรวมไปถึงอัล-อาไรบี ด้วย
สิ่งน่าตกใจคือคนที่ตามเอกสารดังกล่าวบอกว่าเป็นหัวหน้าคณะกรรมการคือ ‘ซัลมาน บิน อิบรอฮิม อัล-เคาะลีฟะฮ์’ (Salman bin Ebrahim Al-Khalifa) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของกษัตริย์บาห์เรนองค์ปัจจุบันของ และในตอนนั้นยังรับตำแหน่งเป็นประธานสมาคมฟุตบอลบาห์เรน ต่อในปี 2013 ซัลมาน บิน อิบรอฮิม อัล-เคาะลีฟะฮ์ ยังได้รับตำแหน่งเป็นถึงรองประธานฟีฟ่า และประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียหรือเอเอฟซี (AFC) โดยเอกสารระบุว่าการสืบสวนต่างๆ ที่เกี่ยวกับหาตัวนักกีฬามาลงโทษนั้น ต้องผ่านความเห็นของเขาทั้งนั้น แม้เขาจะปฎิเสธ แต่ก็มีกระแสต่อต้านเขาในการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานฟีฟ่าในปี 2016
องค์กรด้านสิทธิ์ต่างออกมาประณามการลงชิงตำแหน่งในครั้งนี้ เพราะมองว่าเป็นการผิดต่อจรรยาบรรณเกี่ยวสิทธิมนุษยชน แต่ถึงไม่ได้เป็นประธานฟีฟ่าเขายังคงได้เป็นรองประธานต่อถึงปัจจุบันด้วย
ในมุมของอัล-อาไรบี อนาคตของเขาดูจะมืดมนเพราะถูกจับในประเทศไทย ที่มีประวัติศาสตร์ส่งนักโทษทางการเมืองกลับประเทศหลายครั้ง อย่างกรณีของชาวอุยกูร์หรือนักทำสารคดีฝ่ายค้านชาวกัมพูชา ทั้งคนที่ส่งจับกุมเขาเป็นถึงคนราชวงศ์ ยังเป็นถึงรองประธานฟีฟ่าและประธานเอเอฟซี
นโยบายใหม่ของฟีฟ่า ที่ออกมาเมื่อปีที่แล้วมีหมวดของสิทธิมนุษยชน ที่มีการระบุถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองนักฟุตบอลและฟีฟ่ามีหน้าที่ต้องปกป้องนักเตะจากการถูกละเมิดที่ไม่ชอบธรรม กรณีนี้จึงเป็นการทดลองว่านโยบายฟีฟ่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ รวมทั้งในปีหน้าจะมีการเลือกตั้งประธานเอเอฟซีใหม่อีกครั้ง จะได้เห็นกันว่าจากเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวมาเขาจะได้กับมารับตำแหน่งอีกครั้งหรือไม่