ไม่พบผลการค้นหา
บุญรอด ร่วมกับ ราชมงคล ประกวดออกแบบรถเข็นเพื่อคนพิการ หวังเปิดโอกาสและสร้างความเท่าเทียมให้ผู้พิการ ผ่านไอเดียจากรถเข็นของนึกศึกษา

บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จัดโครงการ Wheel Share Journey จัดประกวดออกแบบรถเข็นเพื่อคนพิการ เพื่อค้นหาต้นแบบรถเข็นที่เหมาะสมกับการใช้งานในสถานที่ท่องเที่ยว โดยตัวโครงการเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 25562 และมีนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมประกวดถึง 287 ทีม ก่อนจะคัดเหลือ 10 ทีมสุดท้ายเพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศเมื่อวนที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี

ทั้งนี้ 10 ทีมสุดท้ายรอบชิงชนะเลิศ ต้องผลิตรถเข็นต้นแบบและนำมาใช้ทดสอบในสนามจำลองที่สามารถพบเจอได้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นลาดชัน ทางซิกแซก พื้นผิวขรุขระ พื้นทราย ขณะที่เกณฑ์ในการตัดสินจะให้น้ำหนักสำคัญจากความสามารถในการนำไปใช้งานได้จริงเป็นหลัก รวมไปถึงเรื่องของการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และความทนทานของอุปกรณ์ที่นำมาผลิตรถเข็น

wheel share journey.jpgwheel share journey3.jpg
  • คณะกรรมการทดสอบการใช้วีลแชร์ ผ่านอุปสรรคต่างๆ อาทิทางลาด หรือทางขรุขระ ที่มักจะพบเจอในชีวิตประจำวัน

ขณะที่คณะกรรมการตัดสินมีนักกีฬาพาราลิมปิกไทย คือ คุณสายสุณีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบคนพิการทีมชาติไทย คุณเธียร ทองลอย นักกีฬาวีลแชร์ยิงธนู ทีมชาติไทย และคุณชนันท์กานต์ เตชะมณีวัฒน์ นักกีฬาวีลแชร์เทนนิสคนพิการทีมชาติไทย มาร่วมเป็นกรรมการตัดสิน

คุณเธียร ทองลอย อดีตนักกีฬาวีลแชร์ยิงธนู ทีมชาติไทย และคณะกรรมการการตัดสินในครั้งนี้กล่าวว่า ประทับใจกับผลงานของนักศึกษาแต่ละทีม สิ่งสำคัญคือโครงการนี้ทำให้มองเห็นว่าสังคมเปิดรับผู้พิการมากขึ้น

“คนพิการไม่ใช่ภาระแต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ถนนหนทาง ทางขรุขระ ทางลาดชัน ทั้งหมดนี้ควรถูกปรับปรุงเพื่อให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เพื่อนๆ คนพิการหลายคนยอมรับตัวเองไม่ได้เลยเก็บตัวอยู่ในบ้าน อยากให้เขาออกมาเจอสังคม เพื่อให้เห็นว่าปัจจุบันนี้เปิดรับมากขึ้นแล้ว”

เธียร.jpg
  • คุณเธียร ทองลอย อดีตนักกีฬาวีลแชร์ยิงธนู ทีมชาติไทย

อดีตนีกกีฬาวีลแชร์ยิงธนู ทิ้งท้ายพร้อมบอกว่า สิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษา จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต และความตระหนักถึงคนพิการจากบรรดาเยาวชน จะทำให้คนพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สำหรับทีมชนะเลิศ คือ ทีม MEC_T จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท ทีมอันดับที่ 2 คือ Mega chance จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท และอันดับที่ 3 คือ ทีมลูกเจ้าแม่คลองประปา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้รับเงินรางวัล 60,000 บาท และในส่วนของรถเข็นต้นแบบที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกนำไปพัฒนาต่อเตรียมผลิตให้แก่สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในประเทศไทย

ด้าน คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า Wheel Share Journey เป็นโครงการที่อยากให้นักเรียนนักศึกษามีโอกาส 'คิดนอกกรอบ' และถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

จุตินันท์2.jpg
  • คุณจุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สอบถามแนวคิดในการสร้างวีลแชร์ของนักศึกษา

“โครงการนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น จากวันนี้นักศึกษาก็จะสามารถนำความคิดไปต่อยอดได้ ไม่เพียงแต่ผู้พิการ แต่ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้วีลแชร์เช่นกัน เกณฑ์ในการตัดสินวันนี้ให้น้ำหนักไปที่การใช้งานจริง รวมถึงการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และความทนทาน”

ทังนี้หลังจากได้ผู้ชนะแล้ว คุณจุตินันท์กล่าวว่าจะร่วมกับ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี นำรถเข็นต้นแบบของทีมที่ชนะไปผลิตเป็นของจริง โดยทางมูลนิธิจำนงค์ ภิรมย์ภักดี จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการทำการผลิตชุดแรก เพื่อส่งมอบให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และสถานที่ที่สนใจอยากได้ก็สามารถติดต่อมายังโครงการเพื่อขอรับรถเข็นได้

“ผมเชื่อว่าเมื่อเราเปิดประเด็นนี้ขึ้นมา นิสิตนักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีกเยอะ” กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ทิ้งท้าย