วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ถูกกักกัน 2566 ว่าในกฎหมายไทย มีโทษอยู่ 5 อย่างคือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และ ริบทรัพย์สิน โดยการลงโทษแบบกักกันไม่ได้อยู่ในกฎหมายนี้ แต่เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าวิธีการเพื่อความปลอดภัย และไม่ใช่โทษ แต่ติดปัญหาที่ว่าการกักกันจะใช้พื้นที่ไหน กรมราชทัณฑ์จึงได้มีการออกระเบียบดังกล่าวออกมา ใช้ ในกรณีเช่นเด็กและเยาวชน ศาลสั่งกักกัน จะที่บ้านกับผู้ปกครองได้ ซึ่งหลักการมีแค่นี้ แต่หลายคนเอาเรื่องนี้ไปโยงกับโทษ ที่นักโทษกลับเข้ามามอบตัว แล้วเอาไปกักกันที่บ้าน ซึ่งเป็นคนละอย่างกัน ใช้กับเรื่องนี้ไม่ได้ เนื่องจากถูกลงโทษไม่ใช่ถูกกักกัน
ส่วนที่ราชกิจจาประกาศระเบียบดังกล่าวออกมาใช้มีการโยง ในประเด็นอื่นๆ วิษณุ ชี้แจงว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ติดขัดปัญหาหลานอย่าง จึงพึ่งประกาศใช้ ซึ่งเรื่องนี้นำไปโยงในทางที่ไม่ถูก เช่น กรณี กรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีอำนาจใหญ่โตมโหฬารปลดนายกฯได้ มีตนเองและ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ ซึ่งเรื่องนี้มีการตั้งมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่มีอำนาจไปปลดใครได้ ข้อสำคัญคือนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ขณะเดียวกันเรื่องนี้ถูกโยงไปถึงกรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับประเทศ วิษณุ กล่าวว่า อย่าเอามาโยงกัน เพราะตนเองเคยให้สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านี้ว่า นโยบายของสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ถ้ามีโทษให้ไปรับโทษโดยกักตัวที่บ้านได้ยังไม่มีระเบียบออกมา ขณะนี้มีเพียงกฎหมายกระทรวงที่ออกมาแล้ว เมื่อปี 2552 สมัย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
สำหรับที่ถูกขัง 3 ประเภท ให้เปลี่ยนไปขังที่บ้านได้คือ 1.คนที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 2.คนที่ถูกศาลสั่งจำคุกและรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 และ 3.หญิงมีครรภ์ที่ศาลสั่งประหารชีวิตแต่ยังไม่คลอด จึงต้องไปขังไปไว้ก่อน โดยจะไปขังที่บ้านหรือโรงพยาบาลก็ได้ จึงย้ำว่าเรื่องดังกล่าวเป็นคนละเรื่องกัน ประกาศนี้ควรจะออกมา 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ แต่พึ่งดำเนินการเสร็จจึงออกมาในช่วงนี้
วิษณุ ยังกล่าวถึงกรณีการขอพระราชทานอภัยโทษของนักโทษทางการเมือง ว่า จะนักโทษการเมืองหรือไม่ใช่นักโทษการเมืองก็ตาม ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมดในการขอพระราชทานอภัยโทษ ขอเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ถ้าถูกยกคำขอ อีก 2 ปีจึงจะขอใหม่ได้ ซึ่งเป็นการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการส่วนตัว แต่หากขอพระราชทานอภัยโทษแบบครอบจักรวาล คือการออกพระราชกฤษฎีกามาแล้วกำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา ซึ่งในเรื่องนี้ยังไม่มีพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งอาจจะมีในปีหน้าตอนช่วงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ 72 พรรษา แต่ย้ำว่า ผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษจะต้องรับโทษก่อน จึงจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ และการขอพระราชทานอภัยโทษจะใช้เวลาเท่าไหร่ก็แล้วแต่กระบวนการ และไม่มีเวลากำหนดว่าจะต้องรับโทษจำนวนเท่าไหร่ เรื่องนี้เป็นพระราชอำนาจไม่มีกำหนด แต่หากการของพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา มีเกณท์คือรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี