ไม่พบผลการค้นหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลการทดสอบคุณภาพถุงยางอนามัย ปี 2559–2561 พบผ่านมาตรฐานร้อยละ 98 แนะควรเลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการรับรองจาก อย. และตรวจสอบวันหมดอายุก่อนซื้อ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา พบว่า แม้ภาพรวมสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2560 โดยรวมลดลง แต่หากจำแนกตามกลุ่มอายุ จะพบว่าในกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-24 ปี มีอัตราการป่วยด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น ทั้งเอชไอวี ซิฟิลิส และโรคหนองใน

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว เพราะนอกจากปัญหาการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกันแล้ว ยังมีปัญหาการใช้ถุงยางอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการใช้ที่ไม่ถูกต้องที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

ด้วยเหตุนี้ สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างถุงยางอนามัยจากร้านขายยา ผู้แทนจำหน่าย และโรงพยาบาล ในปี พ.ศ. 2559–2561 รวม 234 ตัวอย่าง นำมาตรวจคุณภาพ พบว่าร้อยละ 98 ผ่านมาตรฐาน มอก.625-2559 ถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 กำหนดให้มีมาตรฐาน และข้อกำหนดตาม มอก. 625-2559 หรือ ISO 4074 : 2015 

ทั้งนี้ ถุงยางอนามัยต้องมีใบอนุญาตในการผลิตหรือนำเข้า และต้องมีการตรวจสอบคุณภาพทุกรุ่นก่อนวางจำหน่ายในท้องตลาด และหากเป็นถุงยางอนามัยที่มีกรรมวิธีการผลิตใหม่ ต้องมีการทดสอบคุณภาพโดยห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบว่าถุงยางอนามัยรุ่นใดไม่เข้ามาตรฐาน ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะไม่สามารถวางจำหน่ายได้

นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนควรเลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งรับรองจาก อย. ไม่ควรซื้อถุงยางอนามัยมาเก็บไว้นานๆ และควรสังเกตดูวันหมดอายุก่อนซื้อ ควรเก็บถุงยางอนามัย ในที่แห้ง เย็น ไม่ถูกแสงแดดหรือแสงฟลูออเรสเซนต์ ไม่ควรเก็บถุงยางอนามัยไว้ในช่องเก็บของรถยนต์ซึ่งมีอุณหภูมิสูง ในตอนกลางวัน กระเป๋าใส่ธนบัตร หรือกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะการกดทับจะทำให้ถุงยางอนามัยมีรอยรั่วหรือฉีกขาดได้ 

นอกจากนี้ ควรเลือกใช้สารหล่อลื่นที่ละลายในน้ำหรือซิลิโคนออยล์ (silicone oil) เช่น เค-วาย เจลลี่ , คิว-ซี เจลลี่, ดูราเจลหรือกลีเซอรีน ไม่ควรใช้สารหล่อลื่นที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชหรือน้ำมันแร่ เช่น เบบี้ออยล์, น้ำมันทาผิว, ปิโตรเลียม เจลลี (petroleum jelly), น้ำมันปรุงอาหาร และน้ำมันชนิดอื่นๆ เนื่องจากจะทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ แตกขาดง่าย ทำให้ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือคุมกำเนิดได้