หลังจากอวดสายตาในต่างแดนมานานหลายปี ถนนหนทางของประเทศไทยก็เริ่มทำความรู้จักกับยานพาหนะสองวงล้อขนาดเล็ก ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าฟ้ามากขึ้น โดยปัจจุบัน ‘สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า’ ในไทยถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ 1. ผู้ใช้งานเป็นเจ้าของโดยตรง และ 2. บริการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าแบบแชริ่ง
ด้วยความปวดหัวจากปัญหารถติดที่ทำให้คนกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลาบนท้องถนนเฉลี่ยถึง 64 ชั่วโมง/ปี จนขึ้นแท่นเป็นเมืองรถติดอับดับที่ 12 ของโลก และเป็นอับดับ 1 ในเอเชีย จากผลสำรวจของ INRIX Global Traffic Scorecard ในปี 2017 ก็เป็นอีกเหตุผลให้หลายคนหาทางเลือกอื่นๆ มาช่วยลดทอนระยะเวลาในการเดินทางของตนเองมากขึ้น
ธเนศ จันทร์เจริญ หัวหน้าทีมพัฒนาธุรกิจของ ‘นิวรอน โมบิลิตี้’ (Neuron Mobility) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการแชริ่งสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจากประเทศสิงคโปร์บอกว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเป็นยานพาหนะที่เหมาะกับการเดินทางระยะสั้น เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อกับการเดินทางระบบอื่นเช่น รถไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน และใช้ได้ดีกับบริเวณที่มีความหนาแน่นสูง
“สาเหตุที่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าไปเกิดตามเมืองใหญ่ๆ เพราะตอบโจทย์เรื่องการเดินทาง ในกรุงเทพฯ อาจจะเดินทางระยะสุดท้ายลำบาก หากจุดนั้นไม่มีวินมอเตอร์ไซค์ สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า หรือกระทั่งจักรยานก็เป็นเหมือนทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ใช้งาน”
สอดคล้องกับความเห็นของ หมึก – สิริพัฒนา แสงเดือน เจ้าของแฟนเพจ Squidman.exe ที่ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ามาเป็นเวลากว่า 1 เดือน เขาบอกว่ากลุ่มผู้ใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากำลังเพิ่มมากขึ้น เพราะความสะดวกสบาย สามารถนำขึ้นรถไฟฟ้า หรือขึ้นรถแท็กซี่ได้เวลาฝนตก นอกจากนั้นหากใช้ในการเดินทางไปทำงานก็สามารถนำติดตัวขึ้นไปด้วย โดยไม่ต้องกลัวว่าจะหาย
“ความคล่องตัวถือว่ามีมาก มอเตอร์ไซค์บางครั้งก็ยังเจอรถติด จักรยานแม้จะพับเก็บได้แต่ก็ไม่สามารถนำขึ้นรถไฟฟ้าเวลาที่คนแน่นได้ แต่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้สำหรับผู้ที่เดินทางสั้นๆ และต่อรถไฟฟ้า หรือต่อเรือเจ้าพระยาก็มีคนใช้กันอยู่”
ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ก่อให้เกิดมลพิษเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันมาใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
บนเว็บไซต์ Wired ยกตัวอย่างง่ายๆ สำหรับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ต้อนรับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในฐานะเพื่อนรักว่า ในระยะทาง 45 กิโลเมตร รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และบรรทุกผู้โดยสารเพียงคนเดียวจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากถึง 18.90 ปอนด์ แต่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้ากลับปล่อยก๊าซดังกล่าวออกมาเพียง 0.3 ปอนด์เท่านั้น
“ผมอยากให้พาหนะที่ไม่ก่อมลพิษมีการใช้งานมากขึ้นในประเทศไทย เราเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เห็นว่ามีคนสนับสนุนรถไฟฟ้า เราใช้นำร่องให้ดูก่อนว่าสามารถใช้งานได้จริง”
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปัญหาจากฝุ่น PM2.5 ทำให้ชาวกรุงเทพฯ รวมถึงอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศต้องเข้านอนพร้อมกับหมอกควัน ซึ่งการเข้ามาของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า จะช่วยลดปัญหาเรื่องมลภาวะทางอากาศได้พอสมควร เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนหันมาใช้บริการสาธารณะมากขึ้น
“การขนส่งคนจำนวนเดียวกันจากจุด A ไปจุด B การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอยู่แล้ว จากการทำงานเรื่องวางแผนการขนส่ง ผมมองว่าสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งในกระดูกสันหลังของระบบขนส่งสาธารณะ
คนอาจจะใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น แต่ถ้าเกิดไม่รับรู้ว่ามีทางเลือกนี้ก็อาจจะใช้รถยนต์ส่วนบุคคลเดินทางไปที่ออฟฟิศโดยตรง หลายคนโอเคที่จะใช้บริการรถไฟฟ้าแต่ไม่โอเคในการเดินทางต่อไปยังจุดหมาย รวมถึงการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอาจจะทำให้เห็นคุณค่าของชุมชนมากขึ้น” ธเนศกล่าว
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยให้สัมภาษณ์กับ วอยซ์ ออนไลน์ เกี่ยวกับนโยบายการปั่นจักรยาน รวมถึงสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่มีลักษณะการใช้งานคล้ายคลึงกัน โดยมองว่าถนนของกรุงเทพฯ ยังไม่เหมาะกับพาหนะดังกล่าวเท่าที่ควร
ชายผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีกล่าวว่า การใช้งานจักรยานไม่ใช่เรื่องปลอดภัย เพราะคนยังไม่เห็นความสำคัญของการใช้พื้นที่บนถนนร่วมกัน รวมถึงฝาปิดท่อระบายน้ำของกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเป็นซี่ๆ และบางครั้งวางไปทางเดียวกับล้อจักรยาน ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
“สกู๊ตเตอร์เป็นเทรนด์ใหม่ แต่ประเทศไทยยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย (หัวเราะ) ใช้ได้เฉพาะพื้นที่ส่วนบุคคล บางทีกฎหมายอาจต้องปรับให้ทันสมัยขึ้นด้วย เพราะอนาคตสกู๊ตเตอร์คิวอาร์โค้ดน่าจะเป็นแนวโน้มของฟีดเดอร์ และอาจช่วยเรื่องการท่องเที่ยวด้วย เพราะเทคโนโลยีทำให้เมืองเป็นสมาร์ทโมบิลิตี้ (Smart Mobility) เคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น”
ในขณะที่ผู้ให้บริการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในระบบแชริ่งอย่างนิวรอนออกความเห็นว่า ควรจัดระเบียบให้ยานพาหนะดังกล่าวเรียบร้อย หากบริเวณใดมีการใช้งานทางเท้าหนาแน่นอาจจะห้ามการใช้งาน หรือบังคับให้ลดความเร็วลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม และปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม กฎหมายเกี่ยวกับสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันออกไป อาทิ เบลเยียมสามารถใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าด้วยความเร็วสูงสุด 18 กม./ชม. โดยอนุญาตให้วิ่งร่วมกับคนเดินเท้า แต่เยอรมันให้ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 20 กม./ชม. ไม่สามารถใช้งานบนทางเท้าได้ และผู้ขับขี่ต้องมีอายุ 14 ปีขึ้นไป ในขณะที่ประเทศอังกฤษอนุญาตให้ใช้งานในพื้นที่ส่วนบุคคล หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตบางแห่งเท่านั้น
ในเมื่อกฎหมายของประเทศไทยยังไม่มีความชัดเจน หมึกและกลุ่มผู้ใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจึงเลือกนำกติกาของต่างประเทศมาปรับใช้ โดยเจ้าของแว่นกรอบหนาสีดำ และหมวกนิวส์บอยอันเป็นเอกลักษณ์บอกว่า เลือกจะเข็นจูงบนทางเท้า และรักษาความเร็วให้สม่ำเสมอบนท้องถนน
“มีกฎสากลของยุโรป และสิงคโปร์ที่ใช้กันอยู่ เนื่องจากยานพาหนะตัวนี้ไม่มีกฎหมายรับรองในประเทศไทย เวลาเราใช้งานถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดดราม่าขึ้น และอาจทำให้เราไม่มีโอกาสใช้มันอีก ก็เลยต้องอาศัยกฎตัวนี้มาช่วย
“บนทางเท้าเราจะใช้การเข็นจูงเป็นหลัก เพื่อไม่ให้คนเดินถนนตกใจ ส่วนบนถนนหรือไหล่ทางก็พยายามใช้ความเร็วไม่เกิน 25 กม./ชม. แต่รักษาความเร็วไม่ให้ต่ำกว่า 20 กม./ชม. เพื่อไม่ให้รถทั่วไปมองว่าเราเป็นพาหนะที่ช้าเกินไป”
หลังจากใช้งานมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1 เดือน หมึกบอกว่าคนส่วนใหญ่จะรู้สึกแปลกตาเมื่อขับขี่ผ่านไป แต่ผลตอบรับจากการโพสต์ลงในเฟซบุ๊กถือว่าดี มีส่วนน้อยที่จะมาแย้งว่าไม่เหมาะกับประเทศไทย
“ส่วนมากบอกว่าน่าสนใจ และมีความคล่องตัวในการใช้งาน ที่จริงการใช้งานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าคล้ายกับการใช้งานจักรยาน สำคัญที่สุดคือต้องใส่หมวกกันน็อค ข้อดีของสกู๊ตเตอร์คือส่วนใหญ่จะติดไฟหน้าไฟหลังไว้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราจะติดไฟเพิ่มที่หมวก หรือกระเป๋าก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย อาจจะมีสนับเข่า และถุงมือสำหรับคนที่ขับขี่ไม่คล่อง” พี่หมึกทิ้งท้าย พร้อมย้ำเตือนว่าควรจะฝึกการขับขี่ให้คล่องแคล่วก่อนลงถนนจริง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :