วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล และ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค โพสต์บทความในหัวข้อ "หมูแพงอาการของปัญหาเศรษฐกิจฐานราก" โดยตอนหนึ่งระบุว่า ราคาหมูที่แพงขึ้น ไม่ใช่ว่าจะเดือดร้อนเฉพาะครัวเรือนที่มาจับจ่ายตลาด พ่อค้าแม่ขายที่ซื้อหมูไปปรุงอาหารขาย เจ้าของร้านอาหาร ล้วนแต่ได้รับความเดือดร้อน เพราะเศรษฐกิจที่ยอดขายซบเซาแบบนี้ หากขึ้นราคาก็เสี่ยงที่จะทำให้ยอดขายตกลงไปอีก แม้แต่เขียงหมูที่ขายเนื้อหมู ก็ยังไม่อยากให้หมูราคาแพงเลย เพราะขายยากมากๆ ลูกค้าที่ซื้อปลีก เช่น 30-40 บาท ก็ไม่รู้จะตัดแบ่งขายอย่างไร แถมยังต้องคอยรับฟังเสียงบ่นจากลูกค้าอีกด้วย
วิโรจน์ ระบุด้วยว่า สาเหตุที่หมูราคาแพง เท่าที่ตามข่าวคาดว่ามาจากหลายสาเหตุ อาทิ 1.ช่วงโควิดระบาดและมีการล็อกดาวน์ ทำให้ปริมาณการบริโภคหมูลดลง ทำให้เกษตรกรลดการเลี้ยงหมูลง พอมีการคลายล็อกดาวน์ และการบริโภคหมูเพิ่มมากขึ้น ทำให้อุปทานของเนื้อหมูมีไม่เพียงพอ และปัจจุบันเกษตรกรก็ยังไม่มีความมั่นใจที่จะเพิ่มปริมาณการเลี้ยง 2. ต้นทุนในการควบคุมโรคในฟาร์ม และต้นทุนค่าอาหารสัตว์แพงขึ้น 3. การระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) และโรคอหิวาต์สุกร (CSF) แต่ในเรื่องโรคระบาดที่ต้องตรวจสอบติดตามอย่างใกล้ชิด ก็คือ โรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (ASF) นั้นมีการระบาดเกิดขึ้นหรือไม่ เนื่องจากเป็นโรคระบาดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษา ต่อกรณีนี้ อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ให้สัมภาษณ์ว่ามีการระบาดของโรค ASF เกิดขึ้น ทำให้หมูที่เลี้ยงไว้ล้มตายเป็นจำนวนมาก ในขณะที่กรมปศุสัตว์ยืนยันว่าไม่มีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย ซึ่งประเด็นนี้ อย่างไรคงต้องมีการตรวจสอบให้สิ้นข้อสงสัยต่อไป
"สรุปแล้ว ต้นตอของปัญหาราคาหมูแพงก็คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูลดลงจาก 2 แสนราย โดยปัจจุบันเหลืออยู่เพียงเพียง 8 หมื่นรายเท่านั้น ปริมาณสุกรแม่พันธุ์ก็ลดลงจาก 1.1 ล้านตัว ก็เหลืออยู่เพียง 6.6 แสนตัว ทำให้จำนวนสุกรขุนเหลืออยู่เพียง 15 ล้านตัวต่อปี จากที่เคยมีถึง 19-20 ล้านตัวต่อปี สาเหตุที่เกษตรการผู้เลี้ยงหมูลดลง ก็เป็นเพราะภาวะขาดทุนสะสมจนเกินจะแบกรับไหว จากการบริโภคเนื้อหมูที่ลดลงจากการระบาดของโควิด-19 ทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ ก็คือ การสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีกลไกภาครัฐ หรือ บสย. เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจที่จะปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร โดยระยะแรกที่ทำได้เลย คือ การจูงใจให้เกษตรกรที่เลิกเลี้ยงปล่อยให้เล้าว่างไปแล้ว ให้หันกลับมาลงทุนเลี้ยงสุกรอีกครั้ง ส่วนในระยะถัดไปคือ การสนับสนุนให้เกษตรกรรายใหม่ลงทุนเลี้ยงสุกรในระบบฟาร์มปิดที่ได้มาตรฐานต่อไป" วิโรจน์ ระบุ
วิโรจน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของคนตัวเล็กตัวน้อย ไม่ใช่มีเพียงแค่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเท่านั้น แต่ยังมีเกษตรกรที่เพาะปลูก หรือทำปศุสัตว์อื่นๆ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ขาย ผู้ประกอบการร้านอาหาร และเจ้าของร้านรวงต่างๆ ซึ่งรัฐบาลควรนำเอาเงินกู้ 5 แสนล้านในส่วนของแผนงานที่ 3 ที่เหลืออยู่ 87,178 ล้านบาท มาสนับสนุนเป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ ที่เป็นตัวเล็กตัวน้อย ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะกู้เงินผ่านมาตรการ Soft Loan การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด หรือระหว่างโควิด จำเป็นต้องเข้าไปซ่อมที่ฐานราก จะเอื้อเฉพาะนายทุนไม่ได้ นอกจากแหล่งเงินกู้แล้ว สิ่งที่เกษตรกรกังวลที่สุด ก็คือ ความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่ มีโอกาสที่จะล็อกดาวน์อีกหรือไม่ ถ้าล็อกดาวน์อีก เงินที่ลงทุนไปก็จะขาดทุนอีก ความกังวลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเท่านั้น แต่เป็นความกังวลร่วมของคนที่ทำมาหากินในหลายภาคส่วน ในประเด็นข้อกังวลนี้ รัฐบาลต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ ผ่านมาตรการทางสาธารณสุข
"ขณะนี้ ต้องส่งเสียงดังๆ บอกกับรัฐบาลว่า ประชาชนในระดับรากหญ้า ในภาพรวมกำลังเครียดด้วยปัญหาหนี้ครัวเรือน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน พ่อค้าแม่ขายรายย่อย เจ้าของร้านรวงต่างๆ ต้องการแหล่งเงินทุน เพื่อฟื้นฟูปากท้อง และการทำมาหากินอีกครั้ง ราคาหมูแพง เป็นแค่จุดเริ่มต้นของปัญหาเศรษฐกิจฐานราก ถ้าไม่เร่งวางกลไกในการแก้ไข ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากในอีกหลายๆ ภาคส่วน ที่เกิดขึ้นกับคนตัวเล็กตัวน้อย ก็จะทยอยผุดขึ้นให้เห็นอีกเรื่อยๆ และจะส่งผลกระทบเป็นทอดๆ ต่อเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนในทุกระดับชั้นในวงกว้าง และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของปัญหาเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจฟุบเฟ้อ (Stagflation) ที่เป็นการผสมกันระหว่าง การชะลอตัวหรือภาวะการถดถอยทางเศรษกิจ อัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้น และภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ก็อาจจะเกิดขึ้นได้" วิโรจน์ ระบุ