ไม่พบผลการค้นหา
ในโลกออนไลน์ขณะนี้กำลังพูดถึงผลกระทบจากโรคระบาดหมู และความผันผวนของราคาเนื้อหมู พุ่งทะลุเกินกิโลกกรัมละ 200 บาท และคาดการณ์ว่าในเดือนมกราคมนี้ ยังคงมีราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นวิกฤตที่ส่งผลไปยังทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้

ซึ่งคำถามเหล่านี้ต่างพุ่งไปถึงรัฐบาล ว่าจะแก้ปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างไร แม้ว่าตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดสะสางวิกฤต และยังประกาศว่าจะจบปัญหาราคาเนื้อหมูแพงในเร็ววัน พร้อมทั้งออกมาตรการเร่งด่วนในระยะสั่น ระยะยาว ประกอบไปด้วย 

1.มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ การห้ามส่งออกหมูมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 65 ถึง วันที่ 5 เมษายน 65 เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อหมูภายในประเทศ และกระทรวงพาณิชย์จะพิจารณาตามสถานการณ์ว่าควรให้มีการต่ออายุหรือไม่ โดยจะมีการติดตมาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตัวเลขเบื้องต้นในปี 2564 มีการเลี้ยงหมูป้อนเข้าสู่ตลาด ประมาณ 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว 

2.มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ การขยายกำลังผลิตแม่สุกร สนับสนุนศูนย์วิจัยและบำรุงสัตว์ ในสังกัดกรมปศุสัตว์และเครือข่ายคู่ขนานกับฟาร์มเกษตรกรและภาคเอกชน เร่งเดินหน้าการศึกษาวิจัยยาและสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด

3.มาตรการระยะยาว กระทรวงเกษตรฯจะผลักดันการยกระดับมาตรฐานฟาร์มของเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM) มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่และเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค 


ความไว้ใจที่ถดถอย

ทว่าบทพิสูจน์เกือบ 8 ปีที่ผ่านมา ประชาชนต่างเผชิญพิษเศรษฐกิจจากบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลในด้านต่างๆ ทั้งโควิดและค่าครองชีพที่พุ่งสูง ถือเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้หลายชีวิตต้องคิดสิ้นดับสูญ เพราะไร้เรี่ยวแรงในการต่อสู้ชีวิต ต่างกับกลุ่มเจ้าสัวที่เป็นองคพายพโต๊ะจีน กลับไม่ได้รับผลกระทบ แถมยังได้รับของกำนัลเป็นเมกะโปรเจคต์แสนล้านในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะการส่งออกที่เจ้าสัวธุรกิจการเกษตรรวบตึงไว้

สิ่งเหล่านี้ที่เกิดขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้คนจะต้องตั้งข้อกังขา ในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างรัฐและกลุ่มทุนใหญ่ ที่ผนึกกำลังเสพสุขบนความเหือดแห้งของปากท้องประชาชน และลดทอนความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาลอย่างไม่มีเงื่อนไข 

ขณะที่ไวรัลล่าสุดในโซเชียลมีเดีย มีการแชร์โพสต์ข้อความของผู้เลี้ยงสุกรรายหนึ่ง ซึ่งเล่าถึงความรันทดในการเผชิญวิกฤตราคาหมูที่ตกต่ำ และการปกปิดข่าวเรื่องโรคระบาดของทางภาครัฐ โดยไร้มาตราป้องกันและเยียวยา การดูแลเกษตรกรที่ได้รับความเดือนร้อน นำไปสู่การแชร์ข้อความกว่า 6,500 ครั้ง


บันทึกความทรงจำสุดแย่

โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชี Panitan Pimnoo เล่าบันทึกความทรงจำสุดแย่ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ใจความว่า ตลอดเวลา 20 กว่าปีที่ผ่านมาทางบ้านทำฟาร์มหมูเป็นอาชีพเสริมเริ่มตั้งแต่พี่ๆนำความรู้เล็กๆน้อยส่งต่อกันมาครั้งหนึ่งผมเลือกเข้ามหาวิทยาลัยสัตวแพทย์ สัตวบาล ถึงจะไม่ได้เรียนตามที่ตั้งใจไว้ 

แต่เราก็เลี้ยงมาทำมาตั้งแต่เด็กแต่เล็กทำเป็นทุกอย่าง ผ่าตัด ทำหมั้น ผสมเทียม ทำคลอด วัคซีน ฉีดยา ผ่านพ้นทุกวิกฤติทุกโรคระบาด เราทำกันแบบกงสี3คนพี่น้องฟาร์มเป็นเหมือน family time ของบ้านเราใช้เวลาก่อร่างสร้างตัวมาที่เล็กละน้อยฟาร์มไม่เคยหยุดฟาร์มเป็นระยะเวลาเป็นสิ่งที่เข้ามาเติมมากกว่าภาระ  โดยช่วงปลายปี 2020-2021 หมูหน้าฟาร์มเกือบทะลุ กิโลกรัมละ 80 บาท

ต้นปี 2021 ข่าวระบาดโรค ไข้หวัดหมูแอฟริกา (ASF) หรือเรียกอีกชื่อว่า โรคอีโบลาหมู ราคาหมูตกหนักสุด เราสู้สุดใจลงทุนป้องกันหลายอย่าง วัคซีนตามตารางที่เราวางแผนไว้ การฆ่าเชื้อ การตัดวงจร ทุกอย่างจริง ผมจากไม่เคยยุ่งเกี่ยวการจับหมูเลย มากที่สุดเคราะกิโล จดน้ำหนัก คำนวณ รับเงิน ทุกวันนี้ ไล่หมูเข้ากรง ยกขึ้นกิโล ยกขึ้นรถ ขับไปส่งที่เขียง พี่น้องเราตกลงว่าไหว ไหวเรายังไปต่อได้ แต่เมื่อ 5 ตุลาคม 2564 ไม่ไหวแล้ว โรคมาถึงเราแล้ว ต้องขายหมูทิ้ง กิโลกรัมละ 10 บาท ย้ำ 10 บาท


“ประเทศไทยประกาศไม่มีโรคระบาดนี้ในประเทศไทยทุกอย่างปกติเพราะ” เขาย้ำความทรงจำ

เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ ระบุต่อว่า ข่าวลือจากกลุ่มคนเลี้ยงหมู ถ้าประกาศออกไปฟาร์มใหญ่ส่งออกไม่ได้จีนเวียดนามตลาดส่งออกจะมีปัญหาเจ้าสัวมีปัญหา GDP มีปัญหา ถ้าประกาศมาตรการป้องการต้องมีการเยียวยาการดูแลต้องเพิ่มทุกอย่างไม่มีปศุสัตว์จังหวัดคนไหนอยากให้ตัวเองลำบาก ไม่มีอธิบดีปศุสัตว์คนไหนอยากรับผิดชอบ ไม่มีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรคนใดอยากดูดายชีวิตความเดือดร้อนพวกหรอกครับ

เจ้าตัวชี้ให้เห็นผลประโยชนที่ถูกกอบโกยจากลุ่มทุน ว่า แล้ว ASF มาฟาร์มใหญ่เจอไหม เจอแช่สิตู้คอนเทนเนอร์ตู้แช่มี ค่อยๆทยอยออกมาขายตามห้างสรรพสินค้า หมูถูกดี หมูดี เนื้อดี หมูตู้ทั้งหลายกลุ่มทุนนิยมคุมไว้หมดแล้ว อาหารราคาสูงเท่าเดิมไม่มีลด กดให้ชาวบ้านอยู่ยากๆส่วนตลาดค้าปลีกค้สส่งหมูฉันคุมการตลาดไว้หมดแล้ว


“หลักประกันใดๆจากรัฐที่เราๆอาศัยจ่ายภาษีมิได้คุ้มกะลาหัวเราได้เลย บางฟาร์มโยนลงหลุมลงสระวันเป็น 100 ตัววันเดียวตายเป็น 1000 ตัว หนี้สินหลัก 10 ล้าน”

เขาระบุทิ้งท้ายว่า พ่อค้ามาจับไปปาดเหงื่อไปพร้อมบอก “น้องพี่ก็ช่วยน้องได้เท่านี้เอาไปพี่ยังคิดไม่ออกขายยังไง ตลาดนัดก็ปิด น้ำก็ท่วม คนก็ไม่มีเงินซื้อขนาดหมูถูกขนาดนี้ พี่ต้องไปซื้อน้ำแข็งไว้แช่อีก” ทุกชีวิตล้วนลำบากยากเย็นไปหมดในสถาการณ์แบบนี้ มาวันนี้เหลือไว้แต่ คอกเปล่าเห็นแล้วใจหาย น้ำที่ตาไม่เคยไหลน้ำข้างในไหลไม่หยุดเลย


เรื่องหมู ที่ 'ไม่หมู' : คนเลี้ยงรายย่อยล้มหาย คนกินขอบาย ไม่มีเงินซื้อ

วอยซ์ชวนเหลียวย้อนมองดูว่า 5 ปีที่ผ่านมา ราคาเนื้อหมูในประเทศก้าวย่างสู่วิกฤตได้อย่างไร 

องค์กรโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ หรือ OIE รายงานว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งมีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา ได้ระบาดมายังยุโรปและเอเชีย โดยในเอเชีย เริ่มพบที่ประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ในปีถัดมาได้ลุกลามไปยังมองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา ฮ่องกง เกาหลีใต้ ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ปี 2563 พบที่ปาปัวนิวกินี อินเดีย

ปลายปี 2563 ในประเทศไทย เริ่มมีรายงานในหลายจังหวัดว่าหมูล้มตายจำนวนมาก แต่ในช่วงนั้นข่าวสารยังคงเป็นเรื่องการระบาดของโรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร(PRRS) ขณะที่กรมปศุสัตว์ยืนยันว่าไม่มีการระบาดของโรค ASF ในประเทศไทย

โรค PRRS เป็นโรคที่เกษตรกรรู้จักอยู่แล้ว มีวัคซีนและมียารักษา ขณะที่โรค ASF นั้นยังไม่มีวัคซีนและยารักษา จนย่างเข้าสู่ปี 2564 จำนวนหมูที่ล้มตายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่รัฐบาลยังคงยืนกรานว่าประเทศไม่มีการระบาดของ ASF

“ก่อนหมูจะตายมีอาการเป็นผื่นแดง ไข้ขึ้นสูง 4-5 วัน จะไม่กินอาหาร ก่อนตายจะมีตุ่มสีม่วงขึ้นตามใบหู ขอบตา เลือดออกตามปาก จมูก จึงได้แจ้งให้ปศุสัตว์อำเภอน้ำพองเข้ามาตรวจสอบ โดยได้นำเลือดของแม่พันธุ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ไปตรวจหาเชื้อในห้องแลป ผ่านไป 2 อาทิตย์ได้เข้าไปสอบถาม เจ้าหน้าที่แจ้งว่า หมูไม่ได้เป็นโรคที่เข้าข่ายในการชดเชยของปศุสัตว์จึงไม่ได้รับการชดเชย จึงถามว่าแล้วหมูติดเชื้ออะไรถึงตาย เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เมื่อไม่เป็นเชื้อตามที่ปศุสัตว์แจ้ง 2 โรคก็จะไม่มีการตรวจหาเชื้ออีก สร้างความแปลกใจเป็นอย่างมาก” นายจักราวุธ โขพิมพ์ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อเดือนส.ค.2564

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุเมื่อปลายปี 2564 ว่า หมูไทยมีปริมาณลดลงประมาณ 15% หรือ 3 ล้านตัว ขณะที่นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติระบุว่า ปริมาณผลผลิตหมูในตลาดหายไปถึง 50% จากปริมาณการบริโภคเฉลี่ยวันละ 40,000 ตัว สาเหตุหลักคือโรคระบาดในหมูหลายโรคที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตหมูมา 2 ปีแล้ว

จนถึงวันนี้ขึ้นปี 2565 กระทรวงเกษตรฯ ก็ยืนยันอยู่เช่นนั้นว่าไทยไม่มี ASF แม้ประเทศเพื่อนบ้านระบาดหนัก เหตุที่ราคาหมูแพงก็ไม่ใช่เพราะหมูตาย แต่เพราะรัฐบาลควบคุมโควิดได้ดี ความต้องการบริโภคหมูจึงเพิ่ม

“ประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบเกิดโรคระบาดในสุกร โดยเฉพาะ ASF ทำให้ไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรคในสุกรปรับสูงขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งจึงปรับแผนลดการผลิตสุกรขุนลง ส่งผลให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง ปี 2564 - ปัจจุบัน รัฐบาลไทยควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุมยับยั้งการระบาดของโรคในสุกรได้อย่างดีเยี่ยม ส่งผลให้สุกรไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคาเนื้อหมูสดภายในประเทศปรับราคาสูงขึ้น” ประภัตร โพธสุธน รมช. เกษตรฯ กล่าว

นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ อธิบายในภาพรวมว่า ประเทศไทยมีผู้เลี้ยงประมาณ 2 แสนราย เป็นรายย่อย 1.6-1.7 แสนราย และรายย่อยนี่เองที่ล้มระเนระนาดเพราะต้นทุนวัตถุดิบพวกปลายข้าว รำ ขึ้นราคาเฉลี่ย 30% ต้นทุนเคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ต่างๆ ขึ้นราคาเฉลี่ย 50% รวมทั้งการบริหารจัดการของฟาร์มก็ต้นทุนสูงขึ้น โดยโรค AFS ไม่มีวัคซีน ไม่มียารักษาโรค ระดับความเสียหายมีตั้งแต่ 20-30% หรือตายหมดฟาร์ม 100% ก็มี แต่ทางการไทยยังไม่ยอมรับว่าเป็นโรคนี้ และพยายามบอกว่าเป็นโรคเพิร์ส ทั้งที่มันเป็นโรคประจำถิ่นและมียารักษา

ทั้งนี้ ภาพรวมรูปแบบการเลี้ยง ในประเทศไทยมีหมูประมาณ 21 ล้านตัว โดย 80% เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่จนถึงบริษัทขนาดใหญ่ ส่วนอีก 20% คือรายย่อย วิกฤตครั้งนี้บริษัทใหญ่เสียหายเหมือนกันแต่เสียหายน้อยเนื่องจากมีระบบที่ดีกว่า

พรรคเพื่อไทยระบุว่า รัฐบาลพยายามปกปิดข้อมูลมา 3 ปีทำให้ไม่เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และปล่อยให้เกษตรกรแบกรับความเสียหาย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู 150% ของความเสียหาย โดยจากช่วงก่อนการระบาดมีสุกร 22 ล้านตัว ปัจจุบันเหลือ 12 ล้านตัว ส่วนแม่พันธุ์สุกรจากเดิมมี 1.2 ล้านตัว ปัจจุบันลดลงเหลือ 5 แสนตัว ล่าสุดประเทศไทยส่งออกกุนเชียงไปไต้หวัน ถูกตรวจพบว่าเนื้อกุนเชียงมีการปนเปื้อนเชื้ออหิวาห์แอฟริกัน แต่ทางการไทยปฏิเสธว่าเป็นหมูนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่้งไม่เป็นความจริงเพราะการเคลื่อนย้ายนำเข้าจะต้องมีใบรับรองจากปศุสัตว์และยังไม่เคยรายงานไปยัง OIE ถามว่ารัฐบาลทำเพื่อใครกันแน่ ใช่หรือไม่ว่าเพราะการส่งออกเนื้อสุกรไปต่างประเทศของไทยสูงถึงปีละ 22,000 ล้านบาท

พรรคก้าวไกลเสนอว่า ทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้คือ การสนับสนุนเงินกู้ระยะยาว ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีกลไกภาครัฐ หรือ บสย. เข้าไปค้ำประกันเงินกู้ เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจที่จะปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร โดยระยะแรกที่ทำได้เลย คือ การจูงใจให้เกษตรกรที่เลิกเลี้ยงปล่อยให้เล้าว่างไปแล้ว ให้หันกลับมาลงทุนเลี้ยงสุกรอีกครั้ง ส่วนในระยะถัดไปคือ การสนับสนุนให้เกษตรกรรายใหม่ลงทุนเลี้ยงสุกรในระบบฟาร์มปิดที่ได้มาตรฐานต่อไป

ล่าสุด ประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์แถลงว่า นายกฯ ได้สั่งการมายังกระทรวงเกษตรฯ ให้เร่งติดตามและแก้ไขปัญหาหมูแพงอย่างเร่งด่วน โดยตนได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรฯ เร่งหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อที่จะหยุดการส่งออกสุกรในทันที เพื่อให้มีปริมาณสุกรอยู่ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับในระยะกลาง - ยาวนั้น กรมปศุสัตว์จะเริ่มส่งเสริมเกษตรกรรายเล็กเดิมในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม และขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการขนาดใหญ่ให้ผลิตลูกหมูเพิ่ม เพื่อส่งให้เกษตรกรรายเล็กและรายย่อย โดยจะใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. ภายใต้ “โครงการสานฝันสร้างอาชีพ ยกระดับรายได้เกษตรกร” เข้ามาสนับสนุน คาดว่าภายใน 4 เดือน จำนวนสุกรขุนจะเพิ่มขึ้น และราคาจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังเตรียมหารือมาตรการลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และจะส่งเสริมการปลูกข้าวโพดมาเป็นพืชอาหารสัตว์ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ของไทยมีความต้องการใช้ถึงปีละ 8 ล้านตัน แต่มีกำลังการผลิตเพียง 4 ล้านตัน/ต่อปี ทั้งยังได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งเตรียมการสำรวจพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ไม่เสี่ยงโรคระบาด เพื่อกำหนดเป็น 'ปศุสัตว์ Sandbox' หรือเขตควบคุมพิเศษ ส่งเสริมการนำเข้า การผลิต–ส่งออกสินค้าปศุสัตว์ ตามโยบายของนายกฯ โดยด่วน

สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือมองว่า 10 ม.ค.2565 หมูเนื้อแดงที่ตลาดปลายทางมีโอกาสปรับขึ้นไปถึง 260 บาท/กก. ส่วนหมูสามชั้นมีโอกาสที่จะทะลุ 300 บาท/กก. ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ถ้าไม่มีการนำหมูเข้ามาทดแทน เพราะผู้เลี้ยงหมูรายกลางและรายย่อยเลิกเลี้ยงไปเป็นจำนวนมาก และในแต่ละรอบการเลี้ยงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไปด้วย