ตามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐฯ และนักวิจัยเรื่องการพัฒนายา ชี้ว่าแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั่วโลกจะพุ่งไปแล้วกว่า 180,000 ราย แต่ตัวอย่างเลือดของอดีตผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วกลับมีไม่เพียงพอความต้องการของนักวิจัยในการนำมาเป็นต้นแบบพัฒนาวัคซีนรักษาโรค
‘ดร. ริค ไบรท์’ ผู้อำนวยการองค์กรสถาบันวิจัยและพัฒนายาทางชีวภาพ ชี้ว่า ตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วแทบจะเปรียบเสมือนกับทอง เนื่องจากมีตัวอย่างในจำนวนที่น้อยมากสำหรับการวิจัย
เวอร์ ไบโอเทคโนโลยี หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตยาชี้ว่า บรัษิทพยายามหาตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนหายดีตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่าน แต่ไม่สามารถขอตัวอย่างเลือดผู้ป่วยในประเทศจีนได้แม้แต่ตัวอย่างเดียว ทั้งนี้ บริษัทเองก็เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีนช่วงที่มีการระบาดอย่างรุนแรง จึงหันไปหาตัวอย่างเลือดอดีตผู้ป่วยในประเทศอื่นๆ
ล่าสุด บริษัทผลิตยาชี้แจงว่า หลังการแพร่หระจายเป็นเวลากว่า 2 เดือน บริษัทเพิ่งได้ตัวอย่างเลือดของอดีตผู้ป่วยมาเป็นสารตั้งต้นในการวิจัยยา
'จอร์จ สแกนกอส' ผู้อำนวยการสูงสุดของเวอร์ ไบโอเทคโนโลยี กล่าวว่า “เราไม่สามารถนำอะไรออกมาจากจีนได้เลย มันเป็นคอขวดอยู่พักหนึ่ง มันช้าไปแล้วกว่าที่เราต้องการ”
การพัฒนายาขึ้นมารักษา โรคโควิด-19 ที่ยังไม่มียารักษา โดยเฉพาะในปัจจุบัน นักวิจัยเน้นไปที่การพัฒนาแอนติบอดี้ เนื่องจากการพัฒนาตัวยาขึ้นมาเองตั้งแต่ต้นจำเป็นต้องใช้เวลาหลายปี ขณะที่การพัฒนายาจากแอนติบอดี้ใช้เวลาน้อยกว่ามาก อีกทั้งปัจจัยสำคัญที่จะต่อสู้กับเชื้อไวรัสนี้ก็มีอยู่แล้วในเลือดของผู้รอดชีวิต
นักวิจัยชี้ว่า หากพัฒนายาขึ้นมาจากแอนติบอดี้ มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถผลิตยารักษาโรคโควิด-19 ได้ ในระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น
นอกจากนี้ กระบวนการในการพัฒนายาขึ้นมาจากแอนติบอดีก็เคยถูกใช้และได้รับผลดีมาแล้วกับกรณีของโรคอีโบลา ที่บริษัทเวอร์ ไบโอเทคโนโลยีเคยร่วมมือกับกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ปัจจุบัน บริษัทเวอร์ ไบโอเทคโนโลยี กำลังตามหาเลือดของอดีตผู้ป่วยจากโรคซาร์สมาศึกษาก่อน เนื่องจากเชื้อไวรัสของทั้ง 2 โรค มีความคล้ายคลึงกันถึงกว่าร้อยละ 79 จึงมีความเป็นไปได้ที่แอนติบอดี ของผู้ป่วยที่หายจากโรคซาร์ส สามารถนำมาวิจัยพัฒนาเพื่อรักษาโรคโควิด-19 ได้
อ้างอิง; WSJ