ในการประชุมสภาผู้แทนรษฎร สมัยวิสามัญ วันที่ 17 ต.ค. มีวาระการพิจารณาที่สำคัญ คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ที่ล่าช้ามากว่า 4 เดือน โดย เว็บไซต์สำนักงบประมาณเผยแพร่ เอกสารภาคผนวก ก ข การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2563 คิดเป็นวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท สำหรับ 33 หน่วยรับงบประมาณ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 2 แสนล้านบาท ขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท
หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.งบกลาง วงเงิน 5.18 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.72 หมื่นล้านบาท 2.กระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 3.68 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 386 ล้านบาท 3.กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 3.53 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.5 หมื่นล้านบาท 4.กระทรวงการคลัง วงเงิน 2.49 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.7 พันล้านบาท และ 5. กระทรวงกลาโหม วงเงิน 2.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.2 พันล้านบาท
งบกลางที่วงเงินเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 5 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่มาจาก แผนงานพื้นฐานด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ที่เพิ่มขึ้นจากปี 2562 4.85 หมื่นล้านบาท มาจาก ส่วนของ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 2.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 4.19 หมื่นล้านบาท และเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชย ของข้าราชการ 6.27 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 7.93 พันล้านบาท
สำหรับกระทรวงกลาโหม ที่สังคมให้ความสนใจ ปรับเพิ่มขึ้นทุกหน่วยรับงบประมาณ มากที่สุดคือ กองทัพบก 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.3 พันล้านบาท กองทัพเรือ 4.72 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.79 พันล้านบาท กองทัพอากาศ 4.28 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.27 พันล้านบาท กองบัญชาการกองทัพไทย 1.79 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 558 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม 1.03 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 286 ล้านบาท และ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 1.25 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13 ล้านบาท
เมื่อคิดย้อนหลังยุครัฐบาลทหารภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พบว่า ยอดรวมงบประมาณกระทรวงกลาโหม อยู่ที่ 1.05 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น
ปี 2558 วงเงิน 1.92 แสนล้านบาท
ปี 2559 วงเงิน 2.06 แสนล้านบาท
ปี 2560 วงเงิน 2.10 แสนล้านบาท
ปี 2561 วงเงิน 1.10 แสนล้านบาท
ปี 2562 วงเงิน 1.06 แสนล้านบาท
ปี 2563 วงเงิน 2.30 แสนล้านบาท
ภาพรวมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ย่างสู่ปีที่ 6 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นายกฯ นั้นรวมแล้ว จัดสรรงบประมาณทั้งสิ้น 17.4 ล้านล้านบาท ขาดดุล 2.65 ล้านล้านบาท ดังนี้
ปี 2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท
ปี 2559 วงเงิน 2.77 ล้านล้านบาท ขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท
ปี 2560 วงเงิน 2.92 ล้านล้านบาท ขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท
ปี 2561 วงเงิน 2.94 ล้านล้านบาท ขาดดุล 5.5 แสนล้านบาท
ปี 2562 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท
ปี 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ กรอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 8 ต.ค.นี้ ก็จะครบกำหนดวันที่ 20 ม.ค. 2563 จากนั้น วุฒิสภาต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ ภายใน 20 วัน นับจากวันที่ได้รับร่างพ.ร.บ.จากสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่ สภาผู้แทนราษฎรส่งให้วันที่ 20 ม.ค. 2563 ก็จะครบกำหนดวันที่ 8 ก.พ. 2563
ข้อมูลจาก : สำนักงบประมาณ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง