นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 ส.ค. เห็นชอบวงเงินรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยมีวงเงินงบประมาณรายจ่ายอยู่ที่ 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 จากงบประมาณปีก่อนหน้า
แยกเป็นรายจ่ายประจำ 2.39 ล้านล้านบาท รายจ่ายลงทุน 6.55 แสนล้านบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 8.91 หมื่นล้านบาท และเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 6.27 หมื่นล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
คาดจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.73 ล้านล้านบาท
สำหรับรายได้สุทธิที่คาดว่าจะจัดเก็บได้อยู่ที่ 2.73 ล้านล้านบาท ทำให้ต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลที่ 4.69 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และคิดเป็น 2.6 ของจีดีพี โดยการจัดทำงบประมาณนี้เป็นไปตามกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง ซึ่งการจัดทำงบประมาณขาดดุลนี้ แม้จะทำให้แนวโน้มหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังอยู่ในกรอบความยั่งยืนทางการคลังคือไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ร้อยละ 42
ทั้งนี้ ในการจัดทำงบประมาณ สำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุถึงสมมติฐานทางเศรษฐกิจในรายงานการประชุม ครม. ไว้ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและระบบการค้าโลกที่คาดว่าจะสามารถปรับตัวต่อมาตรการกีดกันทางการค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวตามการเร่งเบิกจ่ายภายใต้โครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ที่มีกำหนดแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในช่วงปี 2563 – 2564 และการลงทุนภาคเอกชนที่มีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการย้ายฐานการผลิตระหว่างประเทศ
ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐและภาคครัวเรือนขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.8 – 1.8 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
โดยจากประมาณการดังกล่าว จะทำให้การจัดการรายจ่ายภาครัฐสามารถขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ 2560 – 2564) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564) แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยงานตามกฎหมาย จึงได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ 2563 จำนวน 469,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ 2562 ที่กำหนดไว้ 3,000,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 200,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.7
ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,200,000 ล้านบาท ดังกล่าวเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 - 2565) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2561 สำหรับงบประมาณรายจ่ายลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้มีจำนวนและสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ 2561
"การจัดทำงบประมาณ ยังเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง และยังไม่เกินเพดานหนี้สาธารณะ ขณะที่ภาระหนี้ของประเทศ มีหนี้ต่างประเทศร้อยละ 3 ของหนี้รวมทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว ดังนั้นความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่จะเกิดผลกระทบกับภาระการคลัง จึงไม่มาก ขอให้คลายความกังวล" นางนฤมล กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :