ไม่พบผลการค้นหา
หอภาพยนตร์ กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศขึ้นทะเบียนภาพยนตร์ 15 เรื่อง เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9 ในวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย มีทั้งหนังสมัยใหม่ และ ภาพยนตร์ในอดีตที่เก็บอนุรักษ์ โดยทุกเรื่องต่างมีอิทธิพลต่อสังคมในยุคสมัยต่างๆ

วันนี้ (4 ต.ค.) เป็นวันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ซึ่งกำกับดูแลหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้ประกาศรายชื่อภาพยนตร์ 15 เรื่องขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9 ประจำปี พ.ศ. 2562 เพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ภาพยนตร์ เป็นหลักประกันว่าภาพยนตร์เหล่านี้จะได้รับการอนุรักษ์อย่างดีเพื่อส่งต่อให้ชนรุ่นหลัง โดยมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกคือการเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่า บันทึกประวัติศาสตร์ ความทรงจำ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสีย มีบูรณภาพ หรือมีอิทธิพลต่อสังคมในยุคสมัยต่างๆ 

การเลือกภาพยนตร์เพื่อขึ้นทะเบียน ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการจำนวน 5 ท่าน จากหลากหลายความเชี่ยวชาญและสาขาอาชีพ ในปีนี้ได้แก่ นางนิธินันท์ ยอแสงรัตน์ นักสื่อสารมวลชน ดร. ลลิตา หาญวงษ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ นายพรชัย วิริยะประภานนท์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ นางสาวโสภิต หวังวิวัฒนา นักจัดรายการวิทยุ โดยมี นายกิตติศักดิ์ สุวรรณโภคิน ที่ปรึกษากรรมการบริหารหอภาพยนตร์ เป็นประธานคณะกรรมการ โดยคณะกรรมการพิจารณาตัดสินได้คัดเลือกภาพยนตร์จำนวน 15 เรื่อง จากภาพยนตร์ที่ได้รับการเสนอให้พิจารณากว่า 250 เรื่อง จากประชาชนที่ร่วมเสนอกว่า 800 ราย ให้เป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี ในปีนี้ ภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือกมีทั้งภาพยนตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งทางสังคมและประวัติศาสตร์ รวมทั้งภาพยนตร์เรื่อง (feature film) ที่มีความโดดเด่นทางศิลปะและมีอิทธิพลต่อผู้ชม ดังนี้

ขึ้นทะเบียนหนัง.JPG

ภาพยนตร์เรื่อง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙ ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงถ่ายด้วยพระองค์เองระหว่างการเสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ หลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ราวปีเศษ เห็นภาพภูมิประเทศ พสกนิกร กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมทั้งพิธีต้อนรับยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ ส่วนภาพยนตร์เรื่อง [การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM] ซึ่งเป็นบันทึกเหตุการณ์เดียวกันแต่นำเสนอในอีกมุมมอง เป็นการถ่ายทำโดยกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ศูนย์ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์อย่างเป็นทางการแห่งแรกของสยาม ซึ่งหอภาพยนตร์ได้เก็บอนุรักษ์เศษที่เหลือจากการตัดต่อของภาพยนตร์ (Outtake) มาเรียบเรียงใหม่ 

นอกจากนี้ ยังมีหนังอีกหนึ่งเรื่องจากของกองภาพยนตร์เผยแผ่ข่าว กรมรถไฟหลวง ได้ขึ้นทะเบียนฯ คือ ชมสยาม ภาพยนตร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุดแรกของสยาม ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2473 เพื่อหวังให้ชาวต่างชาติเห็นสภาพบ้านเมืองและวัฒนธรรมของประเทศ

ภาพยนตร์สำคัญอีกสองเรื่องได้แก่ เลือดชาวนา (2479) และปิดทองหลังพระ (2482) ถึงแม้จะหลงเหลือเพียงแค่เศษของภาพยนตร์ (ไม่เต็มเรื่อง) แต่ทั้งคู่เป็นผลงานของทีมงานผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์ไทยที่หลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิด และเป็นตัวอย่างของภาพยนตร์ไทยประเภทภาพยนตร์เรื่อง 35 มม. เสียงในฟิล์มตามแบบมาตรฐานสากลที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ค้นพบของสองบริษัทผู้สร้างที่เป็นคู่แข่งกันในยุคสมัยนั้น คือ โรงถ่ายภาพยนตร์เสียงศรีกรุง โรงถ่ายไทยฟิล์ม 

ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ Insects in the Backyard
  • INSECTS IN THE BACKYARD

ในปีนี้ ยังมีภาพยนตร์สองเรื่องที่สื่อถึงประเด็นเพศสภาพ เป็นสองภาพยนตร์จากสองยุคสมัย ภาพยนตร์เงียบเรื่อง กะเทยเป็นเหตุ [2497] ภาพยนตร์สมัครเล่นไทยที่มีกะเทยเป็นตัวละครหลักที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีการค้นพบ เป็นหลักฐานสำคัญที่ในการสำรวจความเข้าใจและทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อความหลากหลายทางเพศตั้งแต่ยุค 60 กว่าปีก่อน และ INSECTS IN THE BACKYARD (2560) ภาพยนตร์ไทยอิสระขนาดยาวเรื่องแรก ๆ ที่กล้าเปิดประเด็นปะทะกับขนบธรรมเนียมของสังคมไทย ร่วมสมัยว่าด้วยความลื่นไหลของเพศสภาพ ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูก “แบน” จากพระราชบัญญัติพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ก่อนที่ธัญญ์วาริน นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์จะตัดสินใจฟ้องศาลปกครอง จนภาพยนตร์ได้รับการออกฉายใน ปี พ.ศ. 2560

14 อาปัติ.jpg
  • อาปัติ

ภาพยนตร์อีกหนึ่งเรื่องที่ถูกแบนก่อนได้รับการจัดฉายและได้รับการขึ้นทะเบียนฯ ในปีนี้ คือ อาปัติ (2558) ภาพยนตร์สยองขวัญ ที่กล้าหาญที่จะถ่ายทอดให้เห็นถึงพระแท้และพระเทียมที่ปะปนกันอยู่ในสังคม เปรียบเสมือนปรอทวัดอุณหภูมิความอ่อนไหวของสังคมไทยที่มีต่องานศิลปะว่าด้วยพระพุทธศาสนา 

นอกจากนี้ยังมีบันทึกเหตุการณ์ของยุคสมัยในอดีต ได้แก่ BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS ที่ถ่ายทอดให้เห็นภาพรถเมล์ไทยและระบบขนส่งสาธารณะในช่วงสมัยปี 2501 มวยไทย (2506) อันเป็น “ตำรามวยไทย” ของครูบัว วัดอิ่ม ครูมวยไทยสายโคราชคนสำคัญ ที่จัดทำขึ้นในรูปแบบภาพยนตร์เรื่องแรกเท่าที่มีการค้นพบ ส่วนหนังบ้านเรื่อง ฟ้าเมืองไทย” ฉลองขึ้นปีที่ 8 พุธ 7 เมษา 19 (2519) เป็นหนังของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนและบรรณาธิการชั้นครู บันทึกภาพเคลื่อนไหวของนักเขียนคนสำคัญทั่วฟ้าเมืองไทยในยุคที่วงการหนังสือเฟื่องฟูมากที่สุดยุคหนึ่งเอาไว้ได้อย่างมีชีวิตชีวา

09 นางสาวโพระดก.jpg
  • นางสาวโพระดก

นอกจากนี้ยังมีหนังเรื่องอื่นๆ ได้แก่ นางสาวโพระดก ผลงานภาพยนตร์ปี พ.ศ. 2508 ของ วิจิตร คุณาวุฒิ ศิลปินแห่งชาติด้านภาพยนตร์คนแรกของไทย สร้างจากบทประพันธ์ของ สุวัฒน์ วรดิลก นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ พิศมัย วิไลศักดิ์ ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด (2536) ผลงานภาพยนตร์สะท้อนสังคมผ่านกรอบความเป็นหนังแฟนตาซี และเป็นบทบันทึกอารมณ์และชีวิตพนักงานออฟฟิศชาวกรุงเทพในทศวรรษ 2530 เป็นขวัญใจนักวิจารณ์ที่กวาดรางวัลมากมาย และแจ้งเกิดให้แก่ผู้กำกับ อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์ ส่วน ฝัน บ้า คาราโอเกะ (2540) เป็นผลงานการกำกับเรื่องแรกของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่ฉีกกฎเกณฑ์การเล่าเรื่องและขนบหนังไทยโดยเฉพาะหนังแนววัยรุ่นที่กำลังได้รับความนิยมก่อนหน้านั้นอย่างสิ้นเชิง และสุดท้าย พี่มาก..พระโขนง (2556) ภาพยนตร์สร้างประวัติการณ์ทำรายได้ทั่วประเทศทะลุถึงหนึ่งพันล้าน จากการตีความตำนานผีแม่นาคแห่งท้องทุ่งพระโขนงออกมาในรูปแบบที่ไม่เคยมีหนังแม่นาคเรื่องใดนำเสนอมาก่อน โดยเฉพาะการยั่วล้อภาษาและบรรยากาศแบบย้อนยุคในลักษณะทีเล่นทีจริง 

พี่มากพระโขนง.jpg
  • พี่มากพระโขนง

กิจกรรมขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ เป็นกิจกรรมสำคัญที่หอภาพยนตร์จัดขึ้นต่อเนื่องในมาทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยเมื่อรวมในปีนี้แล้วจะมีภาพยนตร์ทั้งหมด 200 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ โดยหอภาพยนตร์ได้ทำการเผยแพร่ภาพยนตร์บางส่วนลงใน youtube ของหอภาพยนตร์ และนำมาจัดฉายที่โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา (รอติดตามโปรแกรมการจัดฉายได้ที่ www.fapot.org) นอกจากนี้ ตลอดเดือนตุลาคมนี้ ทุกท่านสามารถมารับสูจิบัตรงานขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2562 ซึ่งได้บรรจุข้อมูลรายละเอียดของภาพยนตร์แต่ละเรื่องไว้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายที่หอภาพยนตร์ 

รายชื่อภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติครั้งที่ 9 ประจำปี 2562

1.    พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวเสดจฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙ (2469)

2.    [การเสด็จเลียบเมืองเหนือ ROYAL TOUR IN NORTHERN SIAM] (ส่วนที่ไม่ได้ใช้) (2470)

3.    ชมสยาม SEE SIAM (ไม่สมบูรณ์) (2473)

4.    เลือดชาวนา (เศษที่เหลืออยู่) (2479)

5.    ปิดทองหลังพระ (เศษที่เหลืออยู่) (2482)

6.    กะเทยเป็นเหตุ [2497]

7.    BANGKOK METROPOLITAN BUSES AND TRUCKS [2501]

8.    มวยไทย (2506)

9.    นางสาวโพระดก (2508)

10.  “ฟ้าเมืองไทย” ฉลองขึ้นปีที่ 8 พุธ 7 เมษา 19 (2519)

11.  ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด CRAZY ME (2536)    

12.  ฝัน บ้า คาราโอเกะ FUN BAR KARAOKE (2540)

13.  พี่มาก..พระโขนง PEE MAK (2556)

14.  อาปัติ KARMA (2558)

15.  INSECTS IN THE BACKYARD แมลงรักในสวนหลังบ้าน (2560)

สำหรับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ครั้งที่ 9

1. คุณค่าทางประวัติศาสตร์และความทรงจำ 

เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของ สถานที่ กาลสมัย บุคคล เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับคนไทยและสังคมไทย ในมิติต่างๆ เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ทั้งในฐานะปัจเจกและกลุ่มหรือมวลชน สามารถทำให้ผู้ชมเข้าถึงและเข้าใจมิติเหล่านั้นในเชิงประวัติศาสตร์หรือความทรงจำ

2.คุณค่าทางศิลปะภาพยนตร์

เป็นผลงานภาพยนตร์ที่สร้างสรรค์ อันแสดงถึงศิลปะวิทยาทางด้านภาพยนตร์

3. มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

เป็นภาพยนตร์ที่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น การนำเสนอภาพยนตร์นั้นไม่ว่าการถ่ายทำ การแสดง การตัดต่อ ฯลฯ มีความคิดริเริ่ม ไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อนในภาพยนตร์อื่นๆ

4. บูรณภาพ

คือความสมบูรณ์ครบถ้วนของผลงานภาพยนตร์ตรงตามต้นฉบับของผู้สร้างสรรค์ ภาพยนตร์ที่ออกฉายแล้วอาจถูกตัดทอน ถูกเสริมเติมแต่งเพิ่มเติม ถูกดัดแปลงไปด้วยเหตุต่างๆ

5. ความเสี่ยงต่อการสูญเสียหรือยากแก่การหาทดแทน

เป็นภาพยนตร์ที่ยังมีฟิล์มต้นฉบับหรือสำเนาในรูปแบบอื่นใดอยู่ แต่ตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่จะสูญเสียภาพยนตร์นั้นไป ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ เช่น มีต้นฉบับหรือสำเนาอยู่เพียงชุดเดียว หรือภาพยนตร์นั้นกำลังเสื่อมสภาพ หรือสภาพการจัดเก็บไม่ปลอดภัย ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น

6.อิทธิพลต่อคนและสังคม

ภาพยนตร์ที่สามารถส่งผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อปัจเจกชนและหรือต่อสังคม ไม่ว่าทางด้านพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ฯลฯ อาจก่อให้เกิดกระแสสมัยนิยมเกิดการเปลี่ยนแปลง ค่านิยม ขนบธรรมเนียม ไม่ว่าชั่วระยะเวลาสั้นหรือยั่งยืนนาน