วันที่ 29 ต.ค. ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทาง ในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่าง ในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงาน ว่า คณะอนุกรรมการฯทั้ง2ชุดได้เริ่มทำงานไปแล้วโดยอนุกรรมการศึกษาฯ ได้พูดคุยกับนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางกฏหมาย นักการเมือง โดยคุยกับ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา
เพื่อไปตกลงกันในการจะรับฟังความเห็น ในเรื่องของการตั้งคำถามโดยแจกให้สว.ได้แสดงความเห็น ว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญแบบใด อย่างไร นอกจากนั้นยังได้คุยกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎรถึงแนวทางคำถามที่จะถามสส.เนื่องจากพรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการที่จะยกร่าง สส.ทั้ง500 คน เป็นตัวแทนประชาชนจากกลุ่มต่างๆ ขณะที่สว.ก็เป็นตัวแทนวิชาชีพต่างๆ การพูดคุยจะได้รู้ว่าสว.และสส.มีความปรารถนาอย่างไร เพราะทั้งสส.และส.ว. มีอำนาจที่จะตัดสินใจผ่านหรือไม่ผ่านรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการได้รับรู้ความเข้าใจและความคิดของทั้ง 700 คน จะทำให้เราได้เห็นว่าแนวทางที่รัฐธรรมนูญจะผ่านได้จะเป็นอย่างไร
นอกจากนั้นจะมีวิชาชีพต่าง ที่จะไปรับฟังแนวทาง ทั้งจากกลุ่มนักศึกษา ที่จะหารือประมาณต้นเดือนพ.ย.นี้ กลุ่มทหาร ตำรวจ ภาคประชาชนเช่น สมัชชาคนจน กลุ่มพีมูฟ และไอลอว์ โดยพูดคุยจะทำให้ได้รับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆชัดเจนขึ้น และทำให้ประชาธิปไตยเป็นหลักการตามที่เราต้องการมากที่สุด รวมถึงพิจารณาว่าข้อจำกัด ของฝ่ายต่างๆ มีอย่างไรเพื่อจะได้นำไปแก้ไข ทั้งนี้คาดว่าสิ้นเดือนธ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการศึกษาฯจะได้ข้อสรุป และต้นเดือนม.ค.หรือต้นไตรมาสแรกของปี67 จะเสนอเข้าคณะกรรมการชุดใหญ่ พิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเคาะสรุปการทำประชามติ โดยมีหัวข้อและคำถาม ตามที่คณะอนุกรรมการศึกษาฯได้รวบรวม
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคก้าวไกล มีข้อเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาบ้างหรือไม่ ภูมิธรรม กล่าวว่า ดูจากที่เขาเสนอญัตติเรื่องรัฐธรรมนูญ ยังยืนยันให้ยกร่างทั้งฉบับ โดยไม่ยกเว้นหมวด1และหมวด2 ซึ่งหลักการของรัฐบาลเห็นแตกต่างอยู่แล้ว และเสียงส่วนใหญ่ในสภาเป็นของฝ่ายรัฐบาล ยืนยันจุดยืนไม่แตะหมวด1หมวด2เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องไปทำให้เกิดความเข้าใจขัดแย้งกัน และกลายเป็นสร้างความขัดแย้งใหม่ และถ้าเป็นความขัดแย้งในสิ่งที่ส.ส. และส.ว. ไม่เห็นด้วย ร่างรัฐธรรมนูญถึงแม้จะเขียนให้ดีอย่างไรก็ไม่ผ่าน แต่เรามุ่งหวังอยากเห็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยให้มากที่สุด เท่าที่ทำได้และมุ่งหวังจะให้ผ่าน เอามาใช้ได้ในการเลือกตั้งครั้งใหม่
“หลักการประชาธิปไตยต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ในสังคม ถ้าปรารถนาอยากเห็นประชาธิปไตยจริงๆ ก็ไม่ควรยืนยันในความคิดตน ถ้าเราไม่ผ่านไปสิ่งที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นว่า ได้แต่เสนอรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากๆในความเห็นของเรา แต่ไม่เคยผ่านสามารถเอามาใช้ได้ ถ้าเข้าใจตรงนี้และเห็นว่าสังคมมีความเห็นที่แตกต่าง ไม่มีความเห็นใครถูกต้องที่สุด แต่เมื่ออยู่ร่วมกันก็ต้องหารือกัน โดยใช้จุดดีที่สุด
เมื่อสังคมพร้อมก็ค่อยๆพัฒนาไป และวันนี้ก็จะได้ประชาธิปไตยที่ดีมากขึ้นกว่าปี 60 เมื่อมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นประชาชนได้รับความคุ้มครองมากขึ้น เราต้องอยู่กับความจริง ต้องมองเห็นพัฒนาการที่จะแก้ไข เพราะประชาธิปไตยไม่เคยเกิดขึ้นทีเดียวตามที่ใจปรารถนา ทั่วโลกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ก็ต้องมีพัฒนาการ อยากให้เข้าใจตรงนี้และช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญผ่าน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นคนรุ่นเก่าที่เป็นตัวขัดขวาง ทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยลดลง ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้น ก็จะไม่เป็นผลดีกับสังคม”