บัญชีทวิตเตอร์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยแพร่ภาพเรือประมงสภาพทรุดโทรมเกยตื้นที่เกาะราวี ในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล วันนี้ (11 มิ.ย.) โดยพบผู้ที่อยู่บนเรือ 71 ราย เป็นชาย 35 ราย หญิง 31 ราย และเด็ก 5 ราย เจ้าหน้าที่จึงประสานไปยังทหารเรือเพื่อควบคุมตัวทั้งหมดขึ้นฝั่งไปสอบปากคำ
ขณะเดียวกัน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผู้อพยพที่เป็นชาวโรฮิงญามีทั้งหมด 60 ราย ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ทั้งหมดจะถูกสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีผู้ใดเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์หรือไม่ เพราะการล่องเรืออพยพเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อปี 2558 ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝั่งบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย พบหลุมศพผู้อพยพชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมาก นำไปสู่การสอบสวนขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติในแถบประเทศเอเชีย และมีการพิจารณาผู้เกี่ยวข้องหลายราย รวมถึงข้าราชการและผู้มีอิทธิพลในไทย
ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่อพยพออกจากเมียนมาซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิด เนื่องจากรัฐบาลของเมียนมาไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองของประเทศตน แต่มองว่าเป็นผู้อพยพมาจากบังกลาเทศ แม้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากจะตั้งรกรากอยู่ในเมียนมานานหลายอายุคนแล้ว แต่ก็ไม่มีการรับรองสัญชาติหรือสถานะพลเมือง โดยเฉพาะชาวโรฮิงญาที่อยู่ในรัฐยะไข่
ข้อมูลของหน่วยงานในสังกัดองค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ของเมียนมาที่เริ่มปะทุขึ้นใหม่เมื่อปี 2558 ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากเลือกที่จะอพยพออกนอกประเทศ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า และในปี 2560 เกิดการปะทะต่อสู้โดยกองกำลังชาวโรฮิงญา ทำให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเมียนมาและชาวพุทธใช้กำลังบังคับข่มขู่ รวมถึงสังหารหมู่พลเรือนชาวโรฮิงญา ทำให้ชาวโรฮิงญาจำนวนมากอพยพหนีภัยความรุนแรงและการปราบปรามไปยังบังกลาเทศ คาดว่ามีจำนวนมากกว่า 700,000 ราย
นอกเหนือจากผู้ที่ข้ามฝั่งไปบังกลาเทศ ยังมีผู้ที่ตัดสินใจล่องเรือออกจากเมียนมาประมาณ 25,000 ราย โดยอาศัยน่านน้ำทะเลอันดามันของไทยเป็นเส้นทางอพยพ เพื่อไปขึ้นฝั่งที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย แต่สภาพเรือที่ใช้อพยพส่วนใหญ่นั้นเก่าและทรุดโทรม ทำให้เกิดเหตุเรืออับปางหรือเรือเกยตื้น มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อย
ส่วนผู้ที่ถูกซัดมาเกยตื้นฝั่งไทยก็จะถูกกักตัวเพื่อสอบปากคำในฐานะผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย และส่วนใหญ่รัฐบาลไทยจะพยายามดำเนินการผลักดันผู้อพยพเหล่านี้ออกนอกประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: