ไม่พบผลการค้นหา
ภัยแล้งที่โคราช ส่งผลให้ข้าวในนายืนต้นตาย สร้างความเสียหายเกือบทั้งหมด หลังฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน ขณะที่ประชาชนเริ่มขาดแคลนน้ำใช้แล้วหลายพื้นที่ ด้านเกษตรกรสวนผลไม้ใช้วิธีเจาะรูขนมครกเพื่อกักเก็บน้ำไม้ชั้นใต้ดินให้มากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือนส่งผลทำให้นาข้าวของเกษตรกร ซึ่งเป็นข้าวนาปี ใน 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ อำเภอพิมาย ,ชุมพวง ,โนนแดง ,โนนสูง และอำเภอประทาย เป็นพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 2 หมื่นไร่ ขณะนี้ต้นข้าวที่กำลังเจริญเติบโต กลับยืนต้นตายทั้งหมดแล้ว หลังจากประสบภาวะฝนทิ้งช่วงติดต่อกันนาน 3 เดือน ทำให้นาข้าวเสียหายทั้งหมด

ขณะที่ปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำขนาดใหญ่แห้งขอดเกือบหมด โดยเฉพาะเขื่อนเก็บน้ำอำเภอพิมาย ปริมาณน้ำแห้งขอดหนัก ทำให้ไม่สามารถเปิดน้ำระบายไปลงคลองน้ำชลประทานได้ ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ในการเกษตรกรได้ ซึ่งปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ภัยแล้งยาวนานที่สุดในรอบ 50 ปี และคาดว่าจะเข้าขั้นวิกฤติมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่มีวี่แววที่ฝนจะตกลงมาในพื้นที่อีกเลย ทำให้ เกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าวหลายอำเภอได้รับความเดือดร้อน นาข้าวนับแสนไร่เตรียมยืนต้นตายทั้งหมดอย่างแน่นอนหากฝนไม่ตกลงมาภายในสัปดาห์นี้


ข้าว.jpg
  • นาข้าวที่แห้งตายของชาวโคราช

แก้ปัญหาไร้น้ำด้วยการเจาะรู กักน้ำไว้ใช้ใต้ดิน

นายกิจติกร กีรติเรขา เกษตรกรเจ้าของสวนนครเมืองย่า บ้านนางเหริญ หมู่ที่ 6 ตำบลเกษมทรัพย์ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา มีเทคนิคในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จากสวนที่มีปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ปัจจุบันกลายเป็นสวนผลไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี

โดยนายกิจติกร เปิดเผยว่า ได้ศึกษาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ทรงค้นคว้าวิธีแก้ปัญหาพื้นที่ภัยแล้งไว้ โดยมีวิธีหนึ่งที่น่าสนใจ คือ "การทำรูขนมครก" ขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำไว้ในชั้นใต้ดินให้ได้มากที่สุด สำหรับวิธีทำหาซื้อสว่านราคาเครื่องละ 4,000 - 5,000 บาท มาเจาะรูบนที่ดิน โดยให้มีขนาดรูหน้ากว้างประมาณ 6-10 นิ้ว ลึกประมาณ 1 ศอก ใน 1 ตารางเมตร เจาะรู ให้ได้ 10 รู 1 ไร่ มี 1,600 ตารางเมตร จะได้ 16,000 รู เวลาฝนตกลงมา น้ำจะไหลลงไปในรู แต่ถ้าไม่มีรูคันครก น้ำจะไหลหลากจากที่สูงลงที่ต่ำหมด

นายกิจติกร กล่าวว่า ดังนั้นรูเหล่านี้จะมีหน้าที่กักเก็บน้ำ ใน 1 ไร่ ถ้าฝนตกลงมาแรงๆ แต่ละครั้ง จะได้น้ำประมาณ 80,000-100,000 ลิตร ดังนั้นน้ำเหล่านี้ก็จะซึมกระจายลงไปในผิวดิน ทำให้ดินที่เคยแห้งแล้งปลูกพืชอะไรแทบไม่ได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง หรือพืชที่ทำให้ดินเสื่อมสภาพแห้งแล้ง เจาะน้ำบ่อ น้ำบาดาลไม่ค่อยเจอน้ำ แต่ถ้าได้ทำรูขนมครกแล้ว ฝนตกน้ำลงรูๆ ละ 5 ลิตร ใน 1 ปี ถ้าฝนตก 10 ครั้ง ก็จะได้น้ำ 800,000 ลิตร น้ำจะซึมเข้าไปในระดับน้ำชั้นใต้ดินถึง 30 เมตร จะสามารถเจาะเจอน้ำบาดาลมาใช้สำหรับการเกษตรได้ทุกพื้นที่แน่นอน ถ้าเกษตรกรนำทฤษฎีนี้ไปใช้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติ อยู่ห่างไกลจากระบบชลประทาน จะช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับที่สวนนครเมืองย่า ได้ทดลองทำให้ดูแล้วตอนนี้